85 ปี หลังจากที่มีการค้นพบดาวพลูโต โดย Tombaugh นักดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นซึ่งช่วงแรกๆ ของการค้นพบดาวพลูโต เราเห็นมันเป็นแค่เพียงจุดสว่างเล็กๆ เท่านั้นและเคลื่อนที่ช้ามากจนตาของมนุษย์ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ ล่าสุดนี้องค์การนาซ่าได้เผยภาพของดาวพลูโตพร้อมกับดวงจันทร์ขนาดเล็กที่โคจรอยู่โดยรอบภาพที่ได้นี้มาจากการบันทึกภาพโดยยานสำรวจ New Horizons ในช่วงวันที่ 27 มกราคม - 8 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นยานสำรวจมีระยะห่างจากดาวพลูโตอยู่ประมาณ 186 ล้านกิโลเมตร ถึง 201 ล้านกิโลเมตร (แสดงดังในภาพที่ 1)
ภาพที่1: แสดงภาพดาวเคราะห์แคระพลูโตและดวงจันทร์บริวารทั้งสองดวงคือดวงจันทร์นิกซ์(Nix) และดวงจันทร์ไฮดรา(Hydra) บันทึกภาพได้โดยยานสำรวจNew Horizons
ภาพโดย: NASA/Johns Hopkins APL/Southwest Research Institute
วิดีโอ: แสดงชุดภาพจำนวน7 ภาพโดยนำมาทำเป็นวิดีโอเพื่อแสดงรายละเอียดของดาวเคราะห์แคระพลูโตพร้อมด้วยดวงจันทร์บริวารทั้ง2 ดวงคือดวงจันทร์นิกซ์(Nix) แสดงดังกรอบสีเหลี่ยมสีส้มและดวงจันทร์ไฮดรา(Hydra) แสดงกรอบสีเหลี่ยมสีเหลืองจากการสำรวจโดยยานสำรวจ New Horizons
วิดีโอโดย: NASA/Johns Hopkins APL/Southwest Research Institute
เมื่อพิจารณาจากชุดภาพเราสามารถสังเกตเห็นดาวพลูโตปรากฏเป็นจุดที่มีความสว่างกว่าดาวบริเวณโดยรอบและเมื่อนักดาราศาสตร์ใช้เทคนิคการประมวลภาพ จึงช่วยให้เราสามารถสังเกตเห็นดวงจันทร์ขนาดเล็กได้ง่ายขึ้น โดยในภาพที่แสดงนี้จะปรากฏให้เห็นดวงจันทร์ขนาดเล็ก 2 ดวง คือ ดวงจันทร์นิกซ์ (Nix) ระบุเป็นตำแหน่งกรอบสีส้ม อีกหนึ่งดวงคือ ดวงจันทร์ไฮดรา (Hydra) ระบุเป็นตำแหน่งกรอบสีเหลือง ที่มีการโคจรอยู่โดยรอบดาวเคราะห์แคระพลูโต ซึ่งดวงจันทร์ทั้ง 2 ดวงนี้ได้เคยถูกค้นพบด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลมาก่อนแล้วในช่วงปี ค.ศ. 2005
ทั้งนี้การวิจัยในห้องปฏิบัติการทางฟิสิกส์ โดยมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) เป็นสิ่งที่เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติภารกิจในโครงการของการค้นหาพรมแดนใหม่ๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไปจากโลกของเรา จากทีมงานวิจัยโดย อลัน สเติร์น (Alan Stern) นักวิทยาศาสตร์ ผู้ที่เป็นหัวหน้าทีมตรวจสอบประจำปฏิบัติการของยานสำรวจ New Horizons จากสถาบันวิจัย Southwest Research Institute: (SwRI)
ข้อมูลที่ได้จากยานสำรวจในครั้งนี้ อาจช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถเข้าใจได้มากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับระบบดวงจันทร์ของดาวเคราะห์แคระพลูโต ที่คาดการณ์ว่าอาจเกิดจากการชนกันระหว่างดาวพลูโตและวัตถุอื่นๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงกับดาวเคราะห์ในช่วงยุคเริ่มแรกของการถือกำเนิดระบบสุริยะเรา ทั้งนี้การชนดังกล่าวทำให้เกิดเศษซากหลงเหลืออยู่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จนสุดท้ายก็ถูกแรงดึงดูดของดาวพลูโตทำให้พวกมันกลายเป็นดวงจันทร์ที่โคจรอยู่โดยรอบก็เป็นได้
จากโครงการสำรวจนี้ ในนอนาคตข้างหน้าอีกไม่ไกลเราคงได้พบกับภาพของดาวพลูโตที่มีความละเอียดมายิ่งขึ้น อีกทั้งพรมแดนใหม่ๆ ที่ยังรอให้เราได้ค้นหาอีกเป็นแน่
เรียบเรียงโดย
บุญญฤทธิ์ ชุนหกิจ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
แหล่งที่มา http://www.nasa.gov/nh_new-horizons-spots-small-moons-orbiting-pluto/index.html#.VO1bxlN83yD
191 ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น