Translate

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559

หนอนนก (Mealworm) ตัวน้อยๆ ที่ช่วยย่อยพลาสติก

           วันนี้อ่านเจอบทความจากวิชาการดอทคอม บอกเลยว่าน่าสนใจมาก ที่จริงนักวิจัยในประเทศไทยก็มีไม่น้อยเลย ทั้งนักวิจัยอาชีพ และนักวิจัยลูกทุ่ง (นิยามเองค่ะ หมายถึงผู้ที่มีใจรักในงานวิจัย ชอบศึกษา ค้นคว้า ทดลอง) มาลองวิจัยกันสักตั้ง เพื่อลดมลพิษที่เกิดจากขยะดู น่าสนใจมิใช่น้อย ไหนๆก็ไหนๆ เรามาลองอ่านดูกันค่ะว่า สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าหนอนนกนั้น เค้ามีความสำคัญอย่างไร ทำไมเขาถึงสามารถย่อยขยะพวกพลาสติกได้ ไปกันเลยค่ะ
ภาพ ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก
       จากปัญหาขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ในสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพหลาย ๆ ท่านได้ตระหนักถึงปัญหา และร่วมมือกันเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาเหล่านี้ ดังเช่น เมื่อปีที่แล้ว (ค.ศ. 2015) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน Craig Criddle จาก Stanford Woods Institute for the Environment ได้ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ชาวจีน Jun Yang จาก Beihang University ทำการวิจัยและค้นพบว่า มีหนอนชนิดหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในวงการเลี้ยงสัตว์ ชื่อว่า Mealworm หรือหนอนนก สามารถกินและย่อยสลายพลาสติกที่ปกติย่อยสลายได้ยากมาก (หรือนับได้ว่าย่อยสลายไม่ได้) ในธรรมชาติ เช่น กล่องโฟม (styrofoam) ที่ทำจากพอลิเมอร์ชื่อ พอลิสไตรีน (polystyrene) โดยการย่อยสลายเกิดขึ้นผ่านจุลินทรีย์ในลำไส้ของหนอนนกนั่นเอง
ภาพ การกินหรือแทะเล็มพลาสติก (styrofoam) ของหนอนนก (Mealworm)
ที่มาภาพ : https://news.stanford.edu/pr/2015/pr-worms-digest-plastics-092915.html
            ก่อนหน้านี้ คณะวิจัยของ Wei-Min Wu จาก Department of Civil and Environmental Engineering, Standford University ได้พบว่า wax worms ตัวอ่อนของ meal moths อินเดีย (ผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง) มีจุลินทรีย์ในลำไส้ของพวกมันที่สามารถย่อยสลายพอลิเอธิลีน (polyethylene) ซึ่งใช้เป็นพลาสติกที่ใช้ในการผลิตถุงพลาสติก หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าถุงก๊อบแก๊บ มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ แต่อย่างไรก็ดี การที่สิ่งมีชีวิตย่อยสลายพอลิเอธิลีนได้นี้ไม่ใช่สิ่งที่ใหม่เท่าไหร่นัก เนื่องจากในปี 2008 Daniel Burd นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากประเทศแคนาดา ได้รับรางวัลระดับโลกหลายรางวัลจากการค้นพบแบคทีเรียที่สามารถย่อยสลายพอลิเอธิลีนได้ โดยเขาสามารถแยกเชื้อจุลินทรีย์ คือแบคทีเรียที่สามารถย่อยพอลิเอธิลีนได้ 2 สกุลคือ Pseudomonas และ Sphingomonas จากแหล่งที่มีการทิ้งขยะประเภทพลาสติก ล่าสุด Shosuke Yoshida และทีมงานนักวิจัย สาขาชีววิทยาประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์สิ่งทอ (Textile Science ) สถาบัน Kyoto Institute of Technology เมือง Kyoto ได้ค้นพบแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Ideonella sakaiensis201-F6 สามารถย่อยสลายพลาสติก โพลิเอทิลีน เทอเรฟธาเลต (Poly(ethylene terephthalate)) หรือเพท (PET) ซึ่งเป็นพลาสติกที่ใช้ทำขวดน้ำดื่ม และเป็นอีกหนึ่งขยะพลาสติกที่มีมากที่สุด โดยใช้เอนไซม์ที่มีเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของพอลิเมอร์เพทสายยาวให้กลายเป็นมอนอเมอร์หรือหน่วยซ้ำซึ่งเป็นเสมือนสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตพอลิเมอร์ชนิดดังกล่าว
           นับได้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของมวลมนุษยชาติที่จะสามารถแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกจนก่อเกิดมลพิษและความเปลี่ยนแปลงในเชิงลบได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องมิใช่แก้ปัญหาเฉพาะที่ปลายเหตุเท่านั้น แต่ต้องเกิดจากการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เริ่มการปลูกฝังจิตสาธารณะ ปลูกฝังสามัญสำนึกของผู้บริโภค หรือแม้กระทั่งการออกกฎหมาย ที่จะทำให้ประชากรโลกตื่นตัว ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาขยะพลาสติก และช่วยลดการใช้พลาสติกที่ยากแก่การย่อยสลายต่อไป
อ้างอิง : http://www.vcharkarn.com/varticle/505128 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น