Translate

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559

หนอนนก (Mealworm) ตัวน้อยๆ ที่ช่วยย่อยพลาสติก

           วันนี้อ่านเจอบทความจากวิชาการดอทคอม บอกเลยว่าน่าสนใจมาก ที่จริงนักวิจัยในประเทศไทยก็มีไม่น้อยเลย ทั้งนักวิจัยอาชีพ และนักวิจัยลูกทุ่ง (นิยามเองค่ะ หมายถึงผู้ที่มีใจรักในงานวิจัย ชอบศึกษา ค้นคว้า ทดลอง) มาลองวิจัยกันสักตั้ง เพื่อลดมลพิษที่เกิดจากขยะดู น่าสนใจมิใช่น้อย ไหนๆก็ไหนๆ เรามาลองอ่านดูกันค่ะว่า สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าหนอนนกนั้น เค้ามีความสำคัญอย่างไร ทำไมเขาถึงสามารถย่อยขยะพวกพลาสติกได้ ไปกันเลยค่ะ
ภาพ ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก
       จากปัญหาขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ในสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพหลาย ๆ ท่านได้ตระหนักถึงปัญหา และร่วมมือกันเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาเหล่านี้ ดังเช่น เมื่อปีที่แล้ว (ค.ศ. 2015) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน Craig Criddle จาก Stanford Woods Institute for the Environment ได้ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ชาวจีน Jun Yang จาก Beihang University ทำการวิจัยและค้นพบว่า มีหนอนชนิดหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในวงการเลี้ยงสัตว์ ชื่อว่า Mealworm หรือหนอนนก สามารถกินและย่อยสลายพลาสติกที่ปกติย่อยสลายได้ยากมาก (หรือนับได้ว่าย่อยสลายไม่ได้) ในธรรมชาติ เช่น กล่องโฟม (styrofoam) ที่ทำจากพอลิเมอร์ชื่อ พอลิสไตรีน (polystyrene) โดยการย่อยสลายเกิดขึ้นผ่านจุลินทรีย์ในลำไส้ของหนอนนกนั่นเอง
ภาพ การกินหรือแทะเล็มพลาสติก (styrofoam) ของหนอนนก (Mealworm)
ที่มาภาพ : https://news.stanford.edu/pr/2015/pr-worms-digest-plastics-092915.html
            ก่อนหน้านี้ คณะวิจัยของ Wei-Min Wu จาก Department of Civil and Environmental Engineering, Standford University ได้พบว่า wax worms ตัวอ่อนของ meal moths อินเดีย (ผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง) มีจุลินทรีย์ในลำไส้ของพวกมันที่สามารถย่อยสลายพอลิเอธิลีน (polyethylene) ซึ่งใช้เป็นพลาสติกที่ใช้ในการผลิตถุงพลาสติก หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าถุงก๊อบแก๊บ มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ แต่อย่างไรก็ดี การที่สิ่งมีชีวิตย่อยสลายพอลิเอธิลีนได้นี้ไม่ใช่สิ่งที่ใหม่เท่าไหร่นัก เนื่องจากในปี 2008 Daniel Burd นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากประเทศแคนาดา ได้รับรางวัลระดับโลกหลายรางวัลจากการค้นพบแบคทีเรียที่สามารถย่อยสลายพอลิเอธิลีนได้ โดยเขาสามารถแยกเชื้อจุลินทรีย์ คือแบคทีเรียที่สามารถย่อยพอลิเอธิลีนได้ 2 สกุลคือ Pseudomonas และ Sphingomonas จากแหล่งที่มีการทิ้งขยะประเภทพลาสติก ล่าสุด Shosuke Yoshida และทีมงานนักวิจัย สาขาชีววิทยาประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์สิ่งทอ (Textile Science ) สถาบัน Kyoto Institute of Technology เมือง Kyoto ได้ค้นพบแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Ideonella sakaiensis201-F6 สามารถย่อยสลายพลาสติก โพลิเอทิลีน เทอเรฟธาเลต (Poly(ethylene terephthalate)) หรือเพท (PET) ซึ่งเป็นพลาสติกที่ใช้ทำขวดน้ำดื่ม และเป็นอีกหนึ่งขยะพลาสติกที่มีมากที่สุด โดยใช้เอนไซม์ที่มีเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของพอลิเมอร์เพทสายยาวให้กลายเป็นมอนอเมอร์หรือหน่วยซ้ำซึ่งเป็นเสมือนสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตพอลิเมอร์ชนิดดังกล่าว
           นับได้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของมวลมนุษยชาติที่จะสามารถแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกจนก่อเกิดมลพิษและความเปลี่ยนแปลงในเชิงลบได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องมิใช่แก้ปัญหาเฉพาะที่ปลายเหตุเท่านั้น แต่ต้องเกิดจากการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เริ่มการปลูกฝังจิตสาธารณะ ปลูกฝังสามัญสำนึกของผู้บริโภค หรือแม้กระทั่งการออกกฎหมาย ที่จะทำให้ประชากรโลกตื่นตัว ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาขยะพลาสติก และช่วยลดการใช้พลาสติกที่ยากแก่การย่อยสลายต่อไป
อ้างอิง : http://www.vcharkarn.com/varticle/505128 

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เห็ดมันปู กับสรรพคุณที่หลากหลาย

ที่มา lumphaya.stkc.go.th
เป็นกึ่งไมคอร์ไรซ่า ขึ้นได้กับไม้ป่าหลากชนิด ช่วยบำรุงต้นไม้ เห็ดมันปูจะนิยมนำมาหมกกับไข่ แกงเห็ดรวม น้ำพริกเห็ด และอีกหลายเมนู ลักษณะของเห็ดมันปูใหญ่นั้นบริเวณหมวกเห็ดจะมีสีเหลือง รูปทรงกรวย สามารถมองเห็นได้ชัดเจนมากโดยเฉพาะดอกเห็ดและก้านเห็ด และหมวกดอกเห็ดนั้นจะยึดติดอยู่กับก้านดอกเห็ด ส่วนเนื้อภายในนั้นจะมีสีเหลืองอ่อนๆ และบริเวณขอบหมวกของดอกเห็ดนี้จะมีลักษณะเป็นคลื่นหยักๆ โดยตรงนี้สามารถฉีกหรือขาดได้ง่าย ซึ่งบริเวณผิวหมวกดอกนี้จะค่อนข้างบอบบางทำให้มักมีรอยแทะของสัตว์ต่างๆ ได้ ส่วนใต้หมวกดอกนั้นจะเป็นสันนูนๆ และก้านดอกนั้นจะเล็กและเรียวเปราะหรือแตกหักได้ง่าย โดยผิวบริเวณก้านดอกนี้จะค่อนข้างแห้งและเป็นขุยๆ เล็กๆ ทั่วก้านดอกเห็ด
สรรพคุณและประโยชน์ของเห็ดมันปูใหญ่
- ช่วยบำรุงสายตา แก้อาการตาขุ่นมัวหรือฝ้าฟาง
- ช่วยให้ระบบการทำงานของลำไส้ดีขึ้น ขับสารพิษออกจากลำไส้
- ช่วยให้ระบบการทำงานของปอดมีประสิทธิภาพขึ้น
- ช่วยให้กระเพาะอาหารสามารถย่อยได้ง่ายขึ้น
- ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิต้านทานโรคภายในร่างกายให้ดีขึ้น
- ช่วยให้ระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือด
- ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยไข้ได้ง่าย
ตัวอย่างเมนูอาหารของเห็ดมันปูใหญ่
- น้ำพริกเห็ดมันปูใหญ่
- แกงเห็ดมันปูใหญ่
- ซุปเห็ดมันปูใหญ่
- ยำเห็ดมันปูใหญ่
- ต้มยำเห็ดมันปูใหญ่
- ลาบเห็ดมันปูใหญ่
- ผัดผักรวมมิตรเห็ดมันปูใหญ่
- ต้มข่าไก่เห็ดมันปูใหญ่
- ต้มโป๊ะแตกเห็ดมันปูใหญ่


เห็ดด่าน เห็ดไค เห็ดหล่ม เห็ดที่มีกลิ่นหอม

ลักษณะของเห็ดด่าน
                      ที่มาของภาพ : http://www.oknation.net/blog/chawsaun/2008/11/27/entry-1



           เห็ดด่าน เห็ดไค เห็ดไคล เห็ดหล่ม เป็นเห็ดชนิดเดียวกัน อาจเรียกแตกต่างกันไปตามพื้นที่ มีชื่อวิทยาศาสตร์: Russula virescens (schaeff.)fr. รูปร่าง ลักษณะ เป็นหมวกขนาด 3-12 ซม.ดอกอ่อนโค้งเป็นรูปทรงกลม มีสีเขียวออกเหลือง สีเขียวหม่น ผิวเรียบแล้วปริแตกเป็นเกล็ดเห็นเนื้อภายในสีขาวเมื่อแก่ ดอกบานริมขอบจะโค้งงอลงแล้วยกขึ้นเมื่อบานเต็มที่ ริมขอบจะแตกเป็นร่อง ตรงกลางเว้าตื้น ครีบถี่ สีขาวหรือขาวนวล ยึดติดก้าน ก้านสีขาว รูปทรงกระบอก ขนาด4-6 X 1-2 ซม. ผิวค่อนข้างเรียบ โคนก้านจะเรียวกว่าเล็กน้อย จะออกในฤดูฝน พบในดินของป่าเต็งรัง นำไปประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ปิ้ง ย่าง ทำเป็นน้ำพริก นำไปแกง หรือนึ่งกินกับน้ำพริกข่าในภาคเหนือ


เห็ดระโงก ของกินหาได้จากในป่า

เห็ดระโงกขาว
ที่มาของภาพ : www.oknation.net


เห็ดระโงกเหลือง
ที่มาของภาพ : www.oknation.net

            เห็ดระโงก เรียกอีกชื่อว่า เห็ดไข่ห่าน มีชื่อวิทยาศาสตร์ Amanita vaginata มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ออกในฤดูฝน เห็ดระโงกมีทั้งสีขาว สีแดงและสีเหลือง ดอกตูมกลีบรี คล้ายไข่ห่าน เมื่อโตขึ้นหมวกและก้านดอกจะดันปลอกหุ้มแตกออกมา สปอร์และครีบสีขาว แล้วแต่สายพันธุ์ ดอกเห็ดมีลักษณะเป็นเมือก ขอบหมวกมีร่องเล็กๆตรงกันกับครีบ เมื่อดอกบานขอบหมวกจะขาดตามรอยนี้ ด้านล่างหมวกมีครีบสีขาว ก้านดอกยาวเป็นทรงกระบอก ผิวเรียบสีขาวหรือเหลืองนวล เนื้อเยื่อภายในก้านดอกสีขาว และสานต่อกันอย่างหลวมๆ ตรงกลางก้านดอกมีรูกลวงเล็กน้อย เกิดเองตามธรรมชาติมักขึ้นเป็นกลุ่มเล็กๆ พบได้ ตามป่าโปร่งหรือป่าละเมาะทั่วไป ของภาคอีสานและภาคเหนือ

   นำมาประกอบเป็นอาหาร  คนอีสานมักนำไปห่อหมก ผัดน้ำมันหอย แกงเห็ดระโงก หรือแกงเห็ดระโงก    ใส่มะขาม ส่วนคนเหนือนำไปนึ่งหรือต้มจิ้มน้ำพริกข่า

เห็ดหน้าม่วง เห็ดที่มากับหน้าฝน


                                              ที่มาของภาพ : www.bansuanporpeang.com

       เห็ดหน้าม่วง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Russula cyanoxantha Schaeff.ex Fr. อยู่ในวงศ์ RUSSULACEAE  มีชื่อท้องถิ่นเรียกแตกต่างกันในแต่ละภาคว่า เห็ดหน้าม่อย, เห็ดหน้าม่วง เป็นเห็ดกลุ่มเห็ดครีบ ดอกอ่อนรูปกระจกนูนเว้ากลางเล็กน้อย เมื่อบานขอบหมวกยกสูงขึ้น ผิวเรียบ มีหลายสี เช่น สีเขียวอมม่วง สีเขียวปนเหลือง หรือสีม่วงคล้ำ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-6 ซม. ครีบใต้ดอกถี่สีขาวเรียงติดก้านเล็กน้อย บางครีบปลายแยกเป็นรูปส้อม ก้านดอกทรงกระบอกสีขาวผิวเรียบ เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 ซม. ยาว 5-10 ซม. นำมาประกอบอาหารได้ เช่น ต้ม นึ่งกินกับน้ำพริกข่า หรือนำมาแกง