Translate

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559

หนอนนก (Mealworm) ตัวน้อยๆ ที่ช่วยย่อยพลาสติก

           วันนี้อ่านเจอบทความจากวิชาการดอทคอม บอกเลยว่าน่าสนใจมาก ที่จริงนักวิจัยในประเทศไทยก็มีไม่น้อยเลย ทั้งนักวิจัยอาชีพ และนักวิจัยลูกทุ่ง (นิยามเองค่ะ หมายถึงผู้ที่มีใจรักในงานวิจัย ชอบศึกษา ค้นคว้า ทดลอง) มาลองวิจัยกันสักตั้ง เพื่อลดมลพิษที่เกิดจากขยะดู น่าสนใจมิใช่น้อย ไหนๆก็ไหนๆ เรามาลองอ่านดูกันค่ะว่า สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าหนอนนกนั้น เค้ามีความสำคัญอย่างไร ทำไมเขาถึงสามารถย่อยขยะพวกพลาสติกได้ ไปกันเลยค่ะ
ภาพ ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก
       จากปัญหาขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ในสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพหลาย ๆ ท่านได้ตระหนักถึงปัญหา และร่วมมือกันเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาเหล่านี้ ดังเช่น เมื่อปีที่แล้ว (ค.ศ. 2015) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน Craig Criddle จาก Stanford Woods Institute for the Environment ได้ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ชาวจีน Jun Yang จาก Beihang University ทำการวิจัยและค้นพบว่า มีหนอนชนิดหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในวงการเลี้ยงสัตว์ ชื่อว่า Mealworm หรือหนอนนก สามารถกินและย่อยสลายพลาสติกที่ปกติย่อยสลายได้ยากมาก (หรือนับได้ว่าย่อยสลายไม่ได้) ในธรรมชาติ เช่น กล่องโฟม (styrofoam) ที่ทำจากพอลิเมอร์ชื่อ พอลิสไตรีน (polystyrene) โดยการย่อยสลายเกิดขึ้นผ่านจุลินทรีย์ในลำไส้ของหนอนนกนั่นเอง
ภาพ การกินหรือแทะเล็มพลาสติก (styrofoam) ของหนอนนก (Mealworm)
ที่มาภาพ : https://news.stanford.edu/pr/2015/pr-worms-digest-plastics-092915.html
            ก่อนหน้านี้ คณะวิจัยของ Wei-Min Wu จาก Department of Civil and Environmental Engineering, Standford University ได้พบว่า wax worms ตัวอ่อนของ meal moths อินเดีย (ผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง) มีจุลินทรีย์ในลำไส้ของพวกมันที่สามารถย่อยสลายพอลิเอธิลีน (polyethylene) ซึ่งใช้เป็นพลาสติกที่ใช้ในการผลิตถุงพลาสติก หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าถุงก๊อบแก๊บ มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ แต่อย่างไรก็ดี การที่สิ่งมีชีวิตย่อยสลายพอลิเอธิลีนได้นี้ไม่ใช่สิ่งที่ใหม่เท่าไหร่นัก เนื่องจากในปี 2008 Daniel Burd นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากประเทศแคนาดา ได้รับรางวัลระดับโลกหลายรางวัลจากการค้นพบแบคทีเรียที่สามารถย่อยสลายพอลิเอธิลีนได้ โดยเขาสามารถแยกเชื้อจุลินทรีย์ คือแบคทีเรียที่สามารถย่อยพอลิเอธิลีนได้ 2 สกุลคือ Pseudomonas และ Sphingomonas จากแหล่งที่มีการทิ้งขยะประเภทพลาสติก ล่าสุด Shosuke Yoshida และทีมงานนักวิจัย สาขาชีววิทยาประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์สิ่งทอ (Textile Science ) สถาบัน Kyoto Institute of Technology เมือง Kyoto ได้ค้นพบแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Ideonella sakaiensis201-F6 สามารถย่อยสลายพลาสติก โพลิเอทิลีน เทอเรฟธาเลต (Poly(ethylene terephthalate)) หรือเพท (PET) ซึ่งเป็นพลาสติกที่ใช้ทำขวดน้ำดื่ม และเป็นอีกหนึ่งขยะพลาสติกที่มีมากที่สุด โดยใช้เอนไซม์ที่มีเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของพอลิเมอร์เพทสายยาวให้กลายเป็นมอนอเมอร์หรือหน่วยซ้ำซึ่งเป็นเสมือนสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตพอลิเมอร์ชนิดดังกล่าว
           นับได้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของมวลมนุษยชาติที่จะสามารถแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกจนก่อเกิดมลพิษและความเปลี่ยนแปลงในเชิงลบได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องมิใช่แก้ปัญหาเฉพาะที่ปลายเหตุเท่านั้น แต่ต้องเกิดจากการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เริ่มการปลูกฝังจิตสาธารณะ ปลูกฝังสามัญสำนึกของผู้บริโภค หรือแม้กระทั่งการออกกฎหมาย ที่จะทำให้ประชากรโลกตื่นตัว ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาขยะพลาสติก และช่วยลดการใช้พลาสติกที่ยากแก่การย่อยสลายต่อไป
อ้างอิง : http://www.vcharkarn.com/varticle/505128 

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เห็ดมันปู กับสรรพคุณที่หลากหลาย

ที่มา lumphaya.stkc.go.th
เป็นกึ่งไมคอร์ไรซ่า ขึ้นได้กับไม้ป่าหลากชนิด ช่วยบำรุงต้นไม้ เห็ดมันปูจะนิยมนำมาหมกกับไข่ แกงเห็ดรวม น้ำพริกเห็ด และอีกหลายเมนู ลักษณะของเห็ดมันปูใหญ่นั้นบริเวณหมวกเห็ดจะมีสีเหลือง รูปทรงกรวย สามารถมองเห็นได้ชัดเจนมากโดยเฉพาะดอกเห็ดและก้านเห็ด และหมวกดอกเห็ดนั้นจะยึดติดอยู่กับก้านดอกเห็ด ส่วนเนื้อภายในนั้นจะมีสีเหลืองอ่อนๆ และบริเวณขอบหมวกของดอกเห็ดนี้จะมีลักษณะเป็นคลื่นหยักๆ โดยตรงนี้สามารถฉีกหรือขาดได้ง่าย ซึ่งบริเวณผิวหมวกดอกนี้จะค่อนข้างบอบบางทำให้มักมีรอยแทะของสัตว์ต่างๆ ได้ ส่วนใต้หมวกดอกนั้นจะเป็นสันนูนๆ และก้านดอกนั้นจะเล็กและเรียวเปราะหรือแตกหักได้ง่าย โดยผิวบริเวณก้านดอกนี้จะค่อนข้างแห้งและเป็นขุยๆ เล็กๆ ทั่วก้านดอกเห็ด
สรรพคุณและประโยชน์ของเห็ดมันปูใหญ่
- ช่วยบำรุงสายตา แก้อาการตาขุ่นมัวหรือฝ้าฟาง
- ช่วยให้ระบบการทำงานของลำไส้ดีขึ้น ขับสารพิษออกจากลำไส้
- ช่วยให้ระบบการทำงานของปอดมีประสิทธิภาพขึ้น
- ช่วยให้กระเพาะอาหารสามารถย่อยได้ง่ายขึ้น
- ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิต้านทานโรคภายในร่างกายให้ดีขึ้น
- ช่วยให้ระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือด
- ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยไข้ได้ง่าย
ตัวอย่างเมนูอาหารของเห็ดมันปูใหญ่
- น้ำพริกเห็ดมันปูใหญ่
- แกงเห็ดมันปูใหญ่
- ซุปเห็ดมันปูใหญ่
- ยำเห็ดมันปูใหญ่
- ต้มยำเห็ดมันปูใหญ่
- ลาบเห็ดมันปูใหญ่
- ผัดผักรวมมิตรเห็ดมันปูใหญ่
- ต้มข่าไก่เห็ดมันปูใหญ่
- ต้มโป๊ะแตกเห็ดมันปูใหญ่


เห็ดด่าน เห็ดไค เห็ดหล่ม เห็ดที่มีกลิ่นหอม

ลักษณะของเห็ดด่าน
                      ที่มาของภาพ : http://www.oknation.net/blog/chawsaun/2008/11/27/entry-1



           เห็ดด่าน เห็ดไค เห็ดไคล เห็ดหล่ม เป็นเห็ดชนิดเดียวกัน อาจเรียกแตกต่างกันไปตามพื้นที่ มีชื่อวิทยาศาสตร์: Russula virescens (schaeff.)fr. รูปร่าง ลักษณะ เป็นหมวกขนาด 3-12 ซม.ดอกอ่อนโค้งเป็นรูปทรงกลม มีสีเขียวออกเหลือง สีเขียวหม่น ผิวเรียบแล้วปริแตกเป็นเกล็ดเห็นเนื้อภายในสีขาวเมื่อแก่ ดอกบานริมขอบจะโค้งงอลงแล้วยกขึ้นเมื่อบานเต็มที่ ริมขอบจะแตกเป็นร่อง ตรงกลางเว้าตื้น ครีบถี่ สีขาวหรือขาวนวล ยึดติดก้าน ก้านสีขาว รูปทรงกระบอก ขนาด4-6 X 1-2 ซม. ผิวค่อนข้างเรียบ โคนก้านจะเรียวกว่าเล็กน้อย จะออกในฤดูฝน พบในดินของป่าเต็งรัง นำไปประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ปิ้ง ย่าง ทำเป็นน้ำพริก นำไปแกง หรือนึ่งกินกับน้ำพริกข่าในภาคเหนือ


เห็ดระโงก ของกินหาได้จากในป่า

เห็ดระโงกขาว
ที่มาของภาพ : www.oknation.net


เห็ดระโงกเหลือง
ที่มาของภาพ : www.oknation.net

            เห็ดระโงก เรียกอีกชื่อว่า เห็ดไข่ห่าน มีชื่อวิทยาศาสตร์ Amanita vaginata มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ออกในฤดูฝน เห็ดระโงกมีทั้งสีขาว สีแดงและสีเหลือง ดอกตูมกลีบรี คล้ายไข่ห่าน เมื่อโตขึ้นหมวกและก้านดอกจะดันปลอกหุ้มแตกออกมา สปอร์และครีบสีขาว แล้วแต่สายพันธุ์ ดอกเห็ดมีลักษณะเป็นเมือก ขอบหมวกมีร่องเล็กๆตรงกันกับครีบ เมื่อดอกบานขอบหมวกจะขาดตามรอยนี้ ด้านล่างหมวกมีครีบสีขาว ก้านดอกยาวเป็นทรงกระบอก ผิวเรียบสีขาวหรือเหลืองนวล เนื้อเยื่อภายในก้านดอกสีขาว และสานต่อกันอย่างหลวมๆ ตรงกลางก้านดอกมีรูกลวงเล็กน้อย เกิดเองตามธรรมชาติมักขึ้นเป็นกลุ่มเล็กๆ พบได้ ตามป่าโปร่งหรือป่าละเมาะทั่วไป ของภาคอีสานและภาคเหนือ

   นำมาประกอบเป็นอาหาร  คนอีสานมักนำไปห่อหมก ผัดน้ำมันหอย แกงเห็ดระโงก หรือแกงเห็ดระโงก    ใส่มะขาม ส่วนคนเหนือนำไปนึ่งหรือต้มจิ้มน้ำพริกข่า

เห็ดหน้าม่วง เห็ดที่มากับหน้าฝน


                                              ที่มาของภาพ : www.bansuanporpeang.com

       เห็ดหน้าม่วง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Russula cyanoxantha Schaeff.ex Fr. อยู่ในวงศ์ RUSSULACEAE  มีชื่อท้องถิ่นเรียกแตกต่างกันในแต่ละภาคว่า เห็ดหน้าม่อย, เห็ดหน้าม่วง เป็นเห็ดกลุ่มเห็ดครีบ ดอกอ่อนรูปกระจกนูนเว้ากลางเล็กน้อย เมื่อบานขอบหมวกยกสูงขึ้น ผิวเรียบ มีหลายสี เช่น สีเขียวอมม่วง สีเขียวปนเหลือง หรือสีม่วงคล้ำ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-6 ซม. ครีบใต้ดอกถี่สีขาวเรียงติดก้านเล็กน้อย บางครีบปลายแยกเป็นรูปส้อม ก้านดอกทรงกระบอกสีขาวผิวเรียบ เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 ซม. ยาว 5-10 ซม. นำมาประกอบอาหารได้ เช่น ต้ม นึ่งกินกับน้ำพริกข่า หรือนำมาแกง

วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การเกิดฝาแฝด

             

           ฝาแฝดเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์ เพราะธรรมดามนุษย์เราจะมีบุตรทีละ 1 คนเท่านั้น แต่สำหรับคนคูณสองอย่างฝาแฝดจึงเป็นกรณีพิเศษ

แฝดแบ่งออกได้เป็นสองชนิดใหญ่ๆ คือแฝดแท้(แฝดร่วมไข่) และแฝดเทียม  (แฝดต่างไข่) 

1.  แฝดร่วมไข่ เป็นฝาแฝดที่เกิดจากการรวมตัวกันของเซลล์ไข่ 1 ใบ และอสุจิ 1 ตัว ขณะที่กำลังเจริญเติบโตเอ็มบริโอมีการแบ่งเซลล์เช่น จาก 1 เป็น 2 และแยกขาดออกจากัน แต่ละส่วนจะเจริญเติบโตเป็นทารกที่มีอวัยวะครบสมบูรณ์จนกระทั่งคลอด แฝดประเภทนี้จะเป็นเพศเดียวกันเสมอ มีรูปร่างลักษณะเหมือนกัน และถ้าได้รับการเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อเดียวกันจะมีอุปนิสัยและความสามารถที่คล้ายกันมาก ในกรณีที่เอ็มบริโอแบ่งตัว ออกเป็น 2 แต่ไม่แยกออกจากกัน เมื่อทารก เจริญเติบโตจะได้ทารกตัวติดกัน 

 
2.  แฝดต่างไข่   เป็นแฝดที่เกิดจากมีไข่สุกมากกว่า 1 ใบ ไข่แต่ละใบจะมีโอกาสเข้าผสมกับตัวอสุจิแต่ละตัวและเกิดการปฏิสนธิในเวลาใกล้เคียงกัน จะได้เอ็มบริโอ เจริญเติบโตอยู่ภายในมดลูกเดียวกัน แต่แยกรกกันและทารกจะคลอดออกมาในเวลาใกล้เคียงกัน ฝาแฝดชนิดนี้อาจเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศกันก็ได้ ส่วนหน้าตาและลักษณะทางพันธุกรรมจะมีลักษณะคล้ายกัน


ปัจจัยเกิดแฝด
จากการสำรวจเด็กแฝดที่เกิดจากไข่ ใบ หรือที่เรียกว่าแฝดเหมือน จะมีอุบัติการณ์เท่ากันทุกเชื้อชาติ คือ คู่ / 250 คน ส่วนเด็กแฝดที่เกิดจากไข่มากกว่าใบ จะมีปัจจัยดังนี้
1. กรรมพันธุ์ เครือญาติของแม่ที่มีแฝด จะมีโอกาสได้ลูกแฝดมากกว่าเครือญาติของพ่อที่มีลูกแฝด อย่างเช่น 
2. เชื้อชาติ เช่น ในฝรั่งผิวขาวชาวยุโรปจะเกิดฝาแฝด คู่ต่อหญิงตั้งครรภ์ 100 คน ส่วนหญิงนิโกรจะเกิด คู่ต่อหญิงตั้งครรภ์ 80 คน 
3. อายุของแม่และจำนวนครั้งของการตั้งครรภ์ก็มีส่วนอย่างยิ่ง เพราะยิ่งอายุ และจำนวนครั้งของการตั้งครรภ์มากเท่าไร ไข่จะมีโอกาสตกเยอะขึ้น โอกาสตั้งครรภ์แฝดก็มากขึ้นตาม อย่างในประเทศไนจีเรีย หญิงตั้งครรภ์จะมีโอกาสเป็นแฝดได้ร้อยละ แต่หญิงที่ตั้งครรภ์ครั้งที่ หรือมากกว่าจะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้ถึงร้อยละ 6.6
4. หญิงที่มีน้ำหนักตัวมากโดยสาเหตุมาจากการกินเยอะ จะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดมากกว่าหญิงรูปร่างผอม ที่เกิดจากภาวะทุพโภชนาการหรือขาดอาหาร ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความสมบูรณ์ของร่างกาย
5. การได้รับสารหรือยากระตุ้นให้ตกไข่มากกว่า ใบ ซึ่งอยู่ในกลุ่มยาฮอร์โมน 
6. การทำเด็กหลอดแก้ว 
7. การกินยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ประมาณ ปีขึ้นไป เพราะยาคุมจะมีฤทธิ์ไปกดต่อมฮอร์โมนใต้สมองไม่ให้ไข่ตก แต่ถ้าเราเกิดอยากมีลูกและหยุดคุมขึ้นมาฮอร์โมนที่ถูกกดไว้มันจะเป็นอิสระ ทำให้ตกไข่ทีละหลายๆ ใบ จึงเกิดโอกาสเป็นเด็กแฝดได้มากกว่าคนปกติ 


คุณแม่เมื่อมีลูกแฝดอาจจะมีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติ กินเท่าไรก็ไม่พอ เมื่อท้องไปสักพักแล้วรู้สึกว่าท้องมันใหญ่กว่าปกติมาก เช่นท้อง เดือนเท่า 5เดือนแล้ว หรือลูกดิ้นมากซ้ายทีขวาทีเต็มไปหมด ก็จะเป็นตัวบ่งชี้ แต่การอัลตราซาวนด์จะให้ผลแม่นยำที่สุด แค่อายุครรภ์ประมาณ สัปดาห์ ก็จะเห็นแล้วว่าเป็นเด็ก คน อยู่คนละถุงกัน" 
แต่การตั้งครรภ์เด็กแฝดจะทำให้คุณแม่มีความเสี่ยงกว่าครรภ์ทั่วไป เช่น 
§ มีโอกาสแท้งและคลอดก่อนกำหนดสูงกว่าครรภ์ปกติ 
§ โอกาสที่เด็กจะตายในครรภ์และแรกคลอด สูงมากกว่าปกติถึง 2 เท่า 
§ เด็กอาจมีน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม 
§ มีความผิดปกติแต่กำเนิดสูงกว่าครรภ์ปกติ 
§ แม่เกิดอาการแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ โลหิตจาง รกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด เด็กอยู่ในท่าผิดปกติ โพรงมดลูกใหญ่มากๆ 
§ อาการแทรกซ้อนขณะคลอด เช่น มดลูกบีบตัวไม่ดี สายสะดือย้อยๆ จึงทำให้เพิ่มอัตราการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องแม่ 
§ อาการแทรกซ้อนหลังคลอด เช่น ตกเลือด และการติดเชื้อฯ 

สารพิษจากเห็ด

 ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เห็ดพิษ

          ในประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น มีภูมิอากาศเหมาะสมแก่การเจริญเติบโต และขยายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนานาชนิดตั้งแต่จุลินทรีย์, เห็ด, รา, ตลอดจนพืชและสัตว์นานาพันธุ์ ซึ่งจุลินทรีย์, รา, และเห็ดเหล่านี้สามารถสร้างสารพิษชีวภาพที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ได้
         สารพิษชีวภาพคือ สารที่เกิดจากกระบวนการทางสรีรวิทยาของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เมื่อคนหรือสัตว์ได้รับสารดังกล่าวนี้เข้าไปในร่างกายแล้ว ก่อให้เกิดพยาธิสภาพทำให้เจ็บป่วยจนกระทั่งถึงแก่ชีวิตได้

          สารพิษจากเห็ด ในบ้านเราซึ่งอยู่ในเขตร้อนชื้น มีเห็ดมากมายหลายชนิดที่มีพิษ ปัญหาที่สำคัญเมื่อพบผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษ คือ แพทย์หรือแม้แต่ผู้ป่วยไม่รู้จักเห็ดชนิดนั้น อย่างไรก็ตาม ในเห็ดพิษชนิดเดียวกันอาจมีสารชีวพิษอยู่หลายชนิดต่างๆ กัน ตามพื้นที่ที่เห็ดงอก รวมทั้งการพิสูจน์ทราบว่าเป็นเห็ดชนิดใด อาจต้องใช้เวลามากจนให้การรักษาไม่ทันการ การวินิจฉัยและการรักษาภาวะพิษจึงขึ้นอยู่กับลักษณะทางคลินิก โดยเฉพาะอาการแสดงเบื้องต้นและระยะเวลาที่เริ่มแสดงอาการเป็นสำคัญ
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เห็ดพิษ

               การรักษาผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษ ที่สำคัญที่สุดคือ 
                         -  การรักษาประคับประคองให้ผู้ป่วยพ้นขีดอันตราย 
                         -  การลดปริมาณสารพิษที่ผู้ป่วยได้รับ และเร่งขับสารพิษออกจากร่างกาย 
              ดังนั้นถ้าผู้ป่วยยังไม่อาเจียนควรกระตุ้นให้อาเจียน หรือใช้สายยางสวนล้างกระเพาะอาหารในกรณีที่ทำให้อาเจียนไม่ได้, ให้ผงถ่านแก่ผู้ป่วยทุกราย และถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการท้องร่วงควรให้ยาระบายด้วย หลังจากที่สภาพของผู้ป่วยมีเสถียรภาพแล้ว จึงเริ่มสัมภาษณ์ประวัติ และดำเนินการเพื่อให้ได้การวินิจฉัยถึงชนิดของสารชีวพิษที่ผู้ป่วยได้รับ เพื่อให้การรักษาที่จำเพาะต่อไป การสัมภาษณ์ประวัติการรับประทาน ควรให้ได้ประวัติว่าผู้ป่วยรับประทานเห็ดไปกี่ชนิด, เวลาที่รับประทาน และถ้ามีผู้อื่นรับประทานร่วมด้วยมีอาการอย่างไรหรือไม่ สำหรับประวัติการเกิดอาการ ต้องเน้นถึงระยะเวลาที่เริ่มเกิดอาการ และลำดับการเกิดอาการก่อนหลัง พยายามแยกให้ได้ว่าเข้ากับกลุ่มอาการใด (ตารางที่ 3) ตัวอย่างเช่น ถ้าอาการเกิดขึ้นหลัง 6 ชั่วโมงหลังรับประทาน ให้นึกถึง cyclopeptide, monomethylhydrazine หรือ orelline เป็นต้น ถ้าทำได้ให้เก็บอาเจียนหรือน้ำล้างกระเพาะอาหารรวมทั้งชิ้นส่วนของเห็ด เพื่อส่งตรวจแยกชนิดด้วย เห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้อาจมีรูปทรงคล้ายคลึงกัน อาจต่างกันเฉพาะที่สัณฐานวิทยาปลีกย่อยจำเพาะพันธุ์ สารชีวพิษของเห็ดเมาแต่ละตระกูลมีฤทธิ์ต่างๆกัน จำแนกตามลักษณะอาการเด่นในระบบต่างๆ และลักษณะทางพิษวิทยาได้ดังนี้


1.1 Monomethylhydrazine (gyromitrin)
1.2 Indoles (psilocin - psilocybin)

2.1 Cholinergic syndrome ได้แก่ muscarine
2.2 Anticholinergic syndrome ได้แก่ ibotenic acid และ muscimol



พิษต่อตับ ได้แก่ cyclopeptides
พิษต่อระบบประสาทกลาง
พิษต่อระบบประสาทอัตโนมัติ
พิษต่อไต ได้แก่ orelline, orellanine
พิษร่วมกับอัลกอฮอล์ เหมือน disulfiram ได้แก่ coprine
พิษต่อทางเดินอาหาร เกิดจากสารชีวพิษที่ยังไม่มีการพิสูจน์ทราบแน่ชัด

1. พิษต่อตับ

       สารชีวพิษจากเห็ดที่มีพิษต่อตับได้แก่ สารในกลุ่ม cyclopeptides เห็ดที่มีสารชีวพิษชนิดนี้ คือ เห็ดในตระกูล Amanita, Lepiota, Conocybe และ Galerina ในพวกดังกล่าวนี้ Amanita เป็นอันตรายมากที่สุด ลักษณะเป็นเห็ดขนาดใหญ่ รูปทรงสะดุดตา พบเห็นอยู่ทั่วไป ขึ้นอยู่ทั่วไปตามเรือกสวนไร่นาและในป่า cyclopeptides ประกอบด้วยสารชีวพิษ 2 จำพวกได้แก่ amatoxins และ phallotoxins
 

              Amatoxins ถูกดูดซึมได้ดีจากทางเดินอาหาร เป็นสารที่มีพิษรุนแรงต่อเซลล์ ออกฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของ ribonucleic acid (RNA) polymerase เซลล์จึงสร้างโปรตีนไม่ได้และตายทำให้ตับถูกทำลาย นอกจากนี้เป็นพิษต่อไต ตับอ่อน ต่อมหมวก ไต กล้ามเนื้อ และสมอง สามารถตรวจพบได้โดยการทำการทดสอบ Meixner ข้างเตียง โดยหยดน้ำจากกระเพาะอาหาร หรือ คั้นน้ำจากเห็ด หยดลงบนกระดาษกรอง แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง หยดกรดเกลือ (HCl) เข้มข้นลงไป ถ้ามีสาร amatoxin จะมีสีฟ้าเกิดขึ้นในครึ่งชั่วโมง สารนี้จะถูกขับออกทางไต สามารถตรวจพบได้ในซีรั่มและปัสสาวะด้วยวิธี radioimmunoassay แต่ไม่สะดวกในการใช้ทางคลินิก phallotoxins เป็นสารที่เป็นพิษต่อตับรุนแรงมาก แต่ถูกดูดซึมได้น้อยจากทางเดินอาหาร จึงเป็นพิษต่อร่างกายน้อย ทำให้เกิดอาการคล้ายทางเดินอาหารอักเสบในช่วงต้นเท่านั้น

ลักษณะทางคลินิก
                แบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ ระยะต้นเกิดขึ้นใน 6-12 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการทางเดินอาหารอักเสบอย่างรุนแรง ท้องร่วงอย่างแรง ถ่ายเหลวเป็นน้ำคล้ายอหิวาต์ อุจจาระอาจมีมูกเลือดปน ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจตายในระยะนี้ ถ้าได้รับการรักษาประคับประคองโดยการให้สารน้ำและเกลือแร่จนผู้ป่วยอาการดีขึ้น จะเข้าสู่ระยะที่ 2 ในระยะนี้ดูเหมือนผู้ป่วยจะไม่มีอาการอะไร แต่จะตรวจพบเอ็นไซม์ตับสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหลังรับประทาน 2-4 วัน จะเข้าสู่ระยะที่ 3 มีอาการตับอักเสบ ไตวาย หัวใจวาย ตับอ่อนอักเสบ เลือดเป็นลิ่มแพร่กระจาย (DIC) ชัก และถึงแก่กรรม การตรวจทางพยาธิวิทยาจะพบ hepatic necrosis โดยเฉพาะบริเวณ centrilobular


การรักษา
                เช่นเดียวกับผู้ป่วยได้รับสารพิษทั่วไปประกอบด้วย การรักษาประคับประคองให้ผู้ป่วยพ้นขีดอันตราย, การลดการดูดซึม และเร่งขับสารพิษออกจากร่างกาย โดยการทำให้อาเจียน, ให้ activated charcoal 1 g/kg และให้ซ้ำทุก 4 ชั่วโมง มียาต้านพิษหลายตัวที่มีการแนะนำให้ใช้ และถึงแม้ยังไม่มีการศึกษาที่มีการควบคุมอย่างดีพอก็อาจทดลองใช้ได้ เนื่องจากสารชีวพิษนี้เป็นอันตรายอย่างมาก ยาต้านพิษที่มีผู้แนะนำ คือ

Thioetic acid (alpha lipoic acid) เริ่มต้นให้เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีเอ็นไซม์ตับ aminotransferase สูงขึ้น โดยหยดเข้าหลอดเลือดดำขนาด 75 mg/day และถ้าผู้ป่วยหมดสติอาจเพิ่มได้ถึง 500 mg/day จนกว่าระดับ AST และ ALT เริ่มลดลง เชื่อว่ายานี้ออกฤทธิ์เป็น free radical scavenger และออกฤทธิ์เป็น coenzyme ในปฏิกิริยา oxidative decarboxylation ในเนื้อเยื่อของตับ

Penicillin G. ให้เข้าหลอดเลือดดำขนาด 300,000 ถึง 1,000,000 U/kg/day เชื่อว่าสามารถป้องกันเซลล์ตับได้ โดยยับยั้งไม่ให้เซลล์ตับรับสารพิษเข้าไปในเซลล์ และจับกับ plasma protein binding sites แลกที่กับสารพิษ ทำให้ amatoxin ถูกขับออกทางไตเพิ่มขึ้น

Silibinin เป็นส่วนประกอบของ silymarin แยกได้จากยางไม้มีหนาม จำพวกผักโขม สามารถยับยั้งการจับตัวของสารพิษกับเซลล์ตับ ขนาดที่ให้ 20-50 mg/kg/day
เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้ จึงควรให้ glucose, thiamime และ ascorbic acid รวมทั้งอาจให้ hyperbaric oxygen, cimetidine, corticosteroids, cephalosporins, cytochrome C, bile salts, heavy metal salts, D-penicillamine และ diethyldithiocarbamate

นอกจากนี้ควรให้สารน้ำอย่างเพียงพอเพื่อเร่งการขับปัสสาวะ และอาจทำ hemodialysis, plasmapheresis, hemofiltration และ hemoperfusion ในกรณีที่ผู้ป่วยตับวายอย่างรุนแรง การเปลี่ยนตับอาจช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ได้
ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ จะมีอัตราตายประมาณร้อยละ 10 ส่วนใหญ่มักหายเป็นปกติได้ แต่มีผู้ป่วยบางส่วนที่กลายเป็น immune complexmediated chronic active hepatitis

2. พิษต่อระบบประสาทกลาง
สารชีวพิษจากเห็ดที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทกลางมี 2 จำพวกได้แก่
   
2.1 Monomethylhydrazine (Gyromitrin)
  
               เห็ดที่มีสารชีวพิษชนิดนี้ ได้แก่เห็ดในตระกูล Gyromitra, Helvella, Disciotis และ Sarcosphaera เป็นพวกที่มีแอสโคสปอร์ (ascospore) ลักษณะคล้ายอานม้า บางสายพันธุ์รับประทานได้
                 ลักษณะการเกิดพิษจากสารพวก hydrazine คล้ายกับที่พบในพิษจาก isoniazid คือออกฤทธิ์ทำปฏิกิริยากับ pyridoxine ยับยั้งเอ็นไซม์ที่ทำปฏิกิริยาสัมพันธ์กับ pyridoxal phosphate ขัดขวางการสร้าง gamma-aminobutyric acid (GABA) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทประเภทยับยั้งในสมอง
                  หลังจากผู้ป่วยรับประทานเห็ดที่มีสารพิษชนิดนี้ 6-24 ชั่วโมง จะเริ่มมีอาการ มึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน และเป็นตะคริว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการช่วงนี้ไม่มากนัก หลังจากนั้นอาจมีอาการเพ้อ ชัก จนถึงหมดสติได้ นอกจากนี้อาจเกิดภาวะ methemoglobinemia และเม็ดเลือดแดงแตก สุดท้ายอาจเกิดภาวะตับวาย และไตวาย จนเป็นสาเหตุให้ถึงแก่กรรมได้

การรักษา 
              ประกอบด้วยการรักษาประคับประคอง, การลดการดูดซึม และเร่งขับสารพิษออกจากร่างกาย ให้ผง activated charcoal ทุก 4 ชั่วโมง และถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงโดยเฉพาะชัก ให้ยาต้านพิษคือ pyridoxine (วิตามิน B 6) เข้าหลอดเลือดดำขนาด 25 mg/kg เนื่องจาก pyridoxine ขนาดสูงทำให้เกิด peripheral neuropathy จึงต้องระมัดระวังอย่าให้ยาต้านพิษมากเกินไป ควรให้ซ้ำเฉพาะในรายที่ชักซ้ำเท่านั้น
ผู้ป่วยที่ได้รับพิษชนิดนี้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะมีอัตราตายประมาณ 40% ความร้อนอาจทำให้สารนี้ระเหยไปได้ แต่ขณะปรุงอาหารในครัวอาจสูดดมสารนี้จนเกิดเป็นพิษขึ้นได้

2.2 Indoles (psilocin-psilocybin) 


           เห็ดที่มีสารชีวพิษในกลุ่มนี้ ได้แก่ เห็ดในตระกูล Conocybe, Copelandia, Gymnopilus, Naematoloma, Panaeolina, Panaeolus, Psilocybe และ Stropharia เป็นเห็ดพิษขึ้นอยู่ตามกองมูลวัวมูลควายแห้ง มีอยู่ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย ตำราแพทย์แผนโบราณเรียกว่า "เห็ดโอสถรวมจิต" นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางมาพักผ่อนที่เกาะสมุยรู้จักในนาม "magic mushroom" นิยมรับประทานกันในรูปของสลัดผัก หรือเจียวกับไข่
             psilocin และ psilocybin มีอยู่ทั้งในเห็ดสดและแห้ง มีลักษณะทางเคมีสัมพันธ์กับ serotonin ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาททำให้ประสาทหลอนคล้าย lysergic acid diethylamide (LSD) หลังจากรับประทานประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกเคลิบเคลิ้ม ตามด้วยการรับรู้ที่ผิดไปจากความเป็นจริง และประสาทหลอน มีอาการเดินโซเซ ม่านตาขยาย หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ ความดันโลหิตสูง ระดับน้ำตาลในเลือดลด มีอาการแสดงของระบบประสาทกลางถูกกระตุ้น มีความเคลื่อนไหวมากผิดปกติ จนกระทั่งถึงชักได้ ถ้าฉีดสารดังกล่าวนี้เข้าหลอดเลือดดำจะเริ่มด้วยอาการหนาว สั่น กล้ามเนื้อเกร็ง หายใจลำบาก ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อมาก อาเจียน ไม่มีแรง นอกจากนี้อาจมีอาการอุณหภูมิกายสูงผิดปกติ มีภาวะขาดอ๊อกซิเจน และ methemoglo binemia ได้

การรักษา 
                 นอกจากให้การรักษาทั่วไปแล้ว ควรแยกให้ผู้ป่วยอยู่ในที่สงบ ให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยว่าอาการจะหายไปในเวลาไม่กี่ชั่วโมง สำหรับรายที่มีอาการตื่นตระหนก ประสาทหลอน กลัวตาย อาจให้ยากล่อมประสาทในกลุ่ม benzodiazepines หรือ chlordiazepoxide ถ้าผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กต้องให้การรักษาอย่างเต็มที่ เพราะมีรายงานว่าเด็กรับประทานเห็ดจำพวกนี้ตาย ทั้งนี้เพราะระบบน้ำย่อยต่างๆ ของเด็กยังไม่สมบูรณ์เท่าของผู้ใหญ่

3. พิษต่อระบบประสาทอัตโนมัติ
สารชีวพิษจากเห็ดที่ออกฤทธิ์เด่นต่อระบบประสาทอัตโนมัติที่สำคัญมี 2 จำพวก คือ

3.1 Muscarine

          เห็ดพันธุ์ที่มีสารชีวพิษชนิดนี้มากจนสามารถเป็นพิษแก่คนได้คือ เห็ดในตระกูล Inocybe, Clitocybe และ Omphalotus ส่วนใน Amanita muscaria นั้นมีสารชีวพิษชนิดนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เนื่องจากสารพิษ muscarine ไม่สามารถผ่าน blood-brain barrier ได้ จึงออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท parasympathetic เฉพาะส่วนปลาย ณ ตำแหน่ง postganglionic เท่านั้น หลังจากผู้ป่วยรับประทานเห็ดที่มีสารชีวพิษชนิดนี้ประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง จะเกิดอาการเรียกว่า "cholinergic crisis" ซึ่งประกอบด้วยหัวใจเต้นช้า หลอดลมหดเกร็ง เสมหะมาก ม่านตาหดเล็ก น้ำลายฟูมปาก น้ำตาไหล ปัสสาวะอุจจาระราด และอาเจียน อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวนี้น้อยกว่าที่เกิดจากสารเคมีกำจัดแมลงกลุ่ม organophosphates มาก เนื่องจากสารชีวพิษชนิดนี้ถูกดูดซึมผ่านทางระบบทางเดินอาหารได้น้อย และถูกทำลายได้ด้วยความร้อน การปรุงอาหารจึงสามารถทำลายสารชีวพิษชนิดนี้ได้

การรักษา ประกอบด้วยการรักษาประคับประคอง และการให้ atropine 1-2 mg เข้าหลอดเลือดดำช้าๆ สามารถให้ซ้ำได้จนกระทั่งเสมหะแห้ง ยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยถึงแก่กรรมจากสารชีวพิษชนิดนี้

3.2 Ibotenic acid และ muscimol 

                   เห็ดที่สร้างสารชีวพิษชนิดนี้ ได้แก่เห็ดบางพันธุ์ในตระกูล Amanita รวมทั้ง A. muscaria ชนบางเผ่ารวมทั้งชาวอเมริกันในบางรัฐ นิยมเสพเห็ดเหล่านี้เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน
กรด ibotenic ออกฤทธิ์ต้าน cholinergic ทั้งในระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย ทำให้มีผลต่อระบบประสาท เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนแปลงโดยวิธี decarboxylation เป็น muscimol ซึ่งมีฤทธิ์เพิ่มขึ้น 5-10 เท่าภายใน 30 นาที หลังจากผู้ป่วยรับประทานเห็ดที่มีสารชีวพิษชนิดนี้จะเกิดอาการเมา ทำให้เดินโซเซ เคลิ้มฝัน ร่าเริง กระปรี้กระเปร่า การรับรู้ภาพเปลี่ยนแปลง ประสาทหลอน และเอะอะโวยวาย ภายหลังจากเอะอะแล้วผู้ป่วยจะหลับนาน เมื่อตื่นขึ้นอาการจะกลับคืนสู่สภาพปกติใน 1-2 วัน ถ้ารับประทานเห็ดชนิดนี้มากๆ จะเกิดอาการทางจิตอย่าง ชัดเจน อาจชัก และหมดสติได้ พึงระลึกเสมอว่าเห็ดพวกดังกล่าวนี้มีสารชีวพิษหลายชนิดอาจแสดงอาการของ anticholinergic หรือ cholinergic ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่ามีสารชีวพิษชนิดใดมากกว่ากัน การวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกายอย่างละเอียดจะพบกลุ่มอาการ anticholinergic
การรักษาเบื้องต้นเช่นเดียวกับผู้ป่วยที่รับประทานสารพิษโดยทั่วไป

การรักษา ตามอาการทำตามความจำเป็น ถ้ามีอาการชักให้ฉีด diazepam เข้าหลอดเลือดดำ อาจให้ physostigmine ในรายที่มีอาการอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตเช่น คลุ้มคลั่ง หรือหมดสติ เป็นต้น

4. พิษต่อไต
สารชีวพิษจากเห็ด ซึ่งมีพิษต่อไตเป็นอาการเด่น คือสารพิษกลุ่ม bipyridyl ได้แก่ orelline และ orellanine ซึ่งทนต่อความร้อน มีลักษณะทางเคมีสัมพันธ์กับสารเคมีกำจัดวัชพืช diquat พบในเห็ดตระกูล Cortinarius 
เดิมเชื่อว่าเห็ดพวกนี้ไม่มีพิษ แต่ปัจจุบันมีรายงานจากประเทศโปแลนด์และญี่ปุ่นว่า ทำให้เนื้อไตอักเสบ หลอดไตถูกทำลาย (tubulo-interstial nephritis & fibrosis) แต่โกลเมอรูลัสค่อนข้างปกติ รวมทั้งมีรายงานว่าเป็นพิษต่อตับด้วย
อาการเริ่มต้นเกิดขึ้นใน 24-36 ชั่วโมงหลังรับประทาน ผู้ป่วยจะมีอาการ กระเพาะอาหารอักเสบ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น และปวดกล้ามเนื้อ ภายหลังจากมีอาการดังกล่าวแล้วหลายวันจนถึงสัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะบ่อย ไตวายอย่างช้าๆ และเรื้อรัง
เนื่องจากอาการจากสารพิษกลุ่มนี้เกิดขึ้นช้า การลดปริมาณสารพิษที่ร่างกายได้รับรวมทั้งการให้ activated charcoal จึงไม่ค่อยได้ผลเท่าใดนัก การรักษาต้องให้การประคับประคองโดยให้สารน้ำ และปรับภาวะสมดุลย์ของเกลือแร่อย่างเต็มที่ รวมทั้งเฝ้าตรวจหน้าที่ของไตอย่างใกล้ชิดถ้าจำเป็นอาจต้องทำ hemoperfusion, hemodialysis จนถึงอาจต้องทำการเปลี่ยนไต

5. พิษร่วมกับ alcohol คล้าย disulfiram
                 สารชีวพิษที่มีฤทธิ์คล้าย disulfiram ได้แก่ coprine ประกอบด้วยกรดอะมิโนพบในเห็ดตระกูล Coprinus 
สารนี้จะไม่มีพิษถ้าไม่รับประทานร่วมกับการดื่มสุรา ออกฤทธิ์ยับยั้งเอ็นไซม์ acetaldehyde dehydrogenase ทำให้ acetaldehyde จากการเผาผลาญ alcohol ไม่ถูกเปลี่ยนเป็น acetate ทำให้ acetaldehyde คั่งอยู่ในเลือดเป็นจำนวนมาก
อาการจะเริ่มเกิดขึ้นใน 10-30 นาที หลังจากรับประทานเห็ดแกล้มเหล้า และอาจเกิดขึ้นเมื่อดื่มสุราหลังจากรับประทานเห็ดแล้วถึง 1 สัปดาห์ก็ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าแดง ตัวแดง ใจสั่น หายใจหอบ เหงื่อแตก เจ็บหน้าอก ชาตามตัว ม่านตาขยาย และความดันโลหิตสูง อาจพบความดันโลหิตต่ำได้เนื่องจากหลอดเลือดขยายตัว

การรักษา  เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่เกิดปฏิกิริยาจาก disulfiram กับสุรา คือให้คำแนะนำว่าไม่เป็นอันตราย และหายเองในไม่ช้า ในรายที่ความดันโลหิตต่ำต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ถ้าไม่ได้ผลอาจต้องให้ norepinephrine และถ้าอาการรุนแรงมากอาจทำ hemodialysis เพื่อขจัด ethanol และ acetaldehyde ออกจากเลือด

6. พิษต่อทางเดินอาหาร
               เห็ดที่มีสารชีวพิษซึ่งจัดในกลุ่มนี้ คือเห็ดที่ทำให้เกิดอาการเฉพาะระบบทางเดินอาหารภายใน 30 นาที - 3 ชั่วโมง มีอาการจุกเสียดยอดอก อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง และไม่ทำให้มีอาการทางระบบอื่นๆ มีเห็ดมากมายหลายพันธุ์ที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว
              ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรงและไม่ต้องการการรักษาเฉพาะใดๆ มักจะพบได้เองภายใน 24 ชั่วโมง
สิ่งสำคัญที่แพทย์มักผิดพลาดในการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเห็ด คือการให้ผู้ป่วยกลับบ้านหลังจากอาการทางระบบทางเดินอาหารทุเลา โดยไม่ได้ติดตามดูแลอาการผู้ป่วย สารชีวพิษจากเห็ดหลายชนิดโดยเฉพาะในตระกูล Amanita 

มักมีอาการรุนแรงจนถึงทำให้ผู้ป่วยตายได้ หลังจากอาการทางระบบทางเดินอาหารดีขึ้นแล้วหลายวัน

การรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเห็ดซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าเป็นเห็ดชนิดใด หรือได้รับพิษจากสารชีวพิษกลุ่มใด จึงต้องติดตามดูแลอาการ และตรวจหน้าที่ของตับและไตเป็นระยะๆ จนแน่ใจว่าผู้ป่วยพ้นขีดอันตรายแล้วเสมอ

เอกสารอ้างอิง
Aboul-Enen HY. Psilocybin: a pharmacological profile. Am J Pharmacol 1974;146:91.
Bartter F. Thioctic acid and mushroom poisoning. Science 1975;187:216.
Klein AS, Hart J, Brems JJ, et al. Amanita poisoning: treatment and the role of liver transplantation. Am J Med 1989;86:187.
Rumack BH, Salzman E. Mushroom poisoning: diagnosis and treatment. West Palm Beach, FL, CRC press, 1978;263.

ขอบคุณข้อมูลจาก http://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/mushroom