Translate

วันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2557

ชีววิทยาของเซลล์


      คำว่าเซลล์ เชื่อว่าเด็กวิทย์ไม่มีใครไม่รู้จักใช่ไหมหละ ^ ^ เซลล์ (Cells) เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสิ่งมีชีวิต เซลล์แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่เซลล์พืชและเซลล์สัตว์ เซลล์ทั้ง 2 ชนิดนี้มีองค์องประกอบของเซลล์คล้ายกัน จะแตกต่างกันบ้างตามหน้าที่ที่เซลล์ต้องการ 
        ภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตประกอบไปด้วยองค์ประกอบของเซลล์ที่เราเรียกกันว่าออร์แกเนลล์ (Organell) นักเรียนมาดูกันดีกว่าว่าออร์แกแนลล์แต่ละตัวมีหน้าที่อะไรบ้าง
    
                                                       ภาพที่ 1 เซลล์ของสัตว์                                              
                                             ที่มา www.trueplookpanya.com


                                         
                                                            ภาพที่ 2 เซลล์ของพืช
                                              ที่มา : www.neutron.rmutphysics.com

ชีววิทยาของเซลล์ (1)


          เซลล์ประกอบด้วยออร์แกแนลล์ดังนี้
1. เยื่อหุ้มเซลล์ (Cell membrane) เยื่อหุ้มเซลล์ของสิ่งมีชีวิตทำหน้าที่เป็นเยื่อเลือกผ่าน นั่นหมายถึง เจ้าเยื่อหุ้มเซลล์จะยอมให้สารบางชนิดผ่านเท่านั้น และสารชนิดนั้นต้องมีองค์ประกอบเช่นเดียวกับเยื่อหุ้มเซลล์ หากแตกต่างจำเป็นต้องมีตัวรับ ซึ่งก็คือโปรตีนตัวพา (เราจะมาเรียนรู้พวกโปรตีนตัวพาในเนื้อหาต่อไปนะคะ) 
ภาพที่ 3 เยื่อหุ้มเซลล์ 
ที่มา : http://www.il.mahidol.ac.th/

           เยื่อหุ้มเซลล์เกิดจากการรวมตัวของลิพิดและโปรตีน มีการจัดเรียงตัวเป็น 2 ชั้น โดยลิพิดจะมี 2 ส่วน คือส่วนที่ชอบน้ำจะมีลักษณะเป็นก้อนกลมหันออกสู่ภายนอก และลิพิดที่ไม่ชอบน้ำลักษณะเป็นเส้น(เรามักเรียกว่าส่วนหาง) หันเข้าหากัน และมีโปรตีนแทรกอยู่โดยทั่วผนังเซลล์ โปรตีนที่พบในเยื่อหุ้มเซลล์มีหลายชนิด และอาจทำหน้าที่ได้หลายอย่าง เช่นเป็นเอนไซม์ ช่วยในการขนส่งหรือเป็นตัวรับสัญญาณก็ได้ การวางตัวของโปรตีนในชั้นลิพิดไม่มีแบบแผนที่แน่นอน บางชนิดวางตัวอยู่รอบนอกของชั้นลิพิดด้านใดด้านหนึ่ง (peripheral protein) บางชนิดฝังตัวแน่นภายในชั้นลิพิด (integral protein) และโปรตีนบางตัวจะมีส่วนของคาร์โบไฮเดรตมาเกาะจับไว้ เราเรียกว่าไกลโคโปรตีน (Glycoprotein) 

2. นิวเคลียส (Nucleus) คือออร์แกเนลล์ที่มีเยื่อหุ้ม 2 ชั้น ภายในบรรจุสารพันธุกรรมเอาไว้ มักพบอยู่บริเวณกลางเซลล์ และพบได้ในเซลล์ของพวกยูคาริโอต ซึ่งภายในนิวเคลียส (Nucleus) จะมีดีเอ็นเอ (DNA) กับโปรตีนหลายชนิดที่เกาะตัวอยู่กับดีเอ็นเอ (DNA) เช่น โปรตีนฮิสโตน (histone) โดยขดตัวกันกับสายดีเอ็นเอเป็นโครโมโซม (chromosome
       นิวเคลียส (nucleus) มีหน้าที่ คือ การรักษาเสถียรภาพของยีน(gene) ต่างๆและทำการควบคุมการทำงานต่างๆของเซลล์โดยผ่านการแสดงออกของยีน(gene expression)
       นิวเคลียส (nucleus)จะสามารถเห็นได้เมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศ เมื่อนิวเคลียส(nucleus) ถูกย้อมด้วยสี นิวเคลียส(nucleus)จะติดสีเข้มทึบ จนสามารถสังเกตได้ชัดเจน
       นิวเคลียส (nucleus) จะแยกพวกสารพันธุกรรมออกจากไซโตพลาซึม(cytoplasm)โดยมีเยื่อหุ้มนิวเคลียส (nuclear envelope)ที่เป็นเยื่อหุ้ม 2 ชั้น เยื่อหุ้มนิวเคลียส(nuclear envelope)จะมีนิวเคลียร์พอร์ (nuclear pore) หรือ ช่องที่จะทำให้สารสามารถเคลื่อนที่ผ่านเยื่อหุ้มนิวเคลียส(nuclear envelope)ได้ นิวเคลียร์พอร์ (nuclear pore)เหล่านี้จะทะลุผ่านเยื่อหุ้มนิวเคลียส(nuclear envelope)ทั้ง 2 ชั้น ทำให้โมเลกุลที่มีขนาดเล็กและไอออนสามารถเคลื่อนที่เข้าและออกนิวเคลียส(nucleus)ได้ ในการเคลื่อนที่เข้าและออกของพวกสารที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ อย่างเช่น โปรตีน ที่ต้องมีการทำการควบคุมโดยต้องใช้โปรตีนช่วยในการขนส่งสาร (carrier proteins) นอกจากนี้นิวเคลียส (nucleus)ยังมีโครงสร้างที่เรียกว่านิวเคลียร์ลามินา (nuclear lamina) ที่เป็นโครงสร้างมีลักษณะเป็นร่างแหภายในนิวเคลียส(nucleus) โดยทำหน้าที่เป็นโครงร่างคอยค้ำจุนให้ความแข็งแรงแก่นิวเคลียส(nucleus)ได้

ชีววิทยาของเซลล์ (2)


3. เอ็นโดพลาสมิคเรติคูลัมชนิดเรียบ (smooth endoplasmic reticulum : SER)  เป็นเยื่อร่างแหที่มีลักษณะเรียบ เชื่อมโยงระหว่างนิวเคลียสกับเซลล์เมมเบรน ประกอบไปด้วยไขมันและโปรตีน ทำหน้าที่ในการขนส่งสารต่าง ๆ ผ่านเซลล์ และเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ สเตรอยด์ (steroid)
ภาพที่ 4  เอ็นโพลาสมิคเรติคูลัมชนิดเรียบ
ที่มา : http://www.baanjomyut.com

4.  เอ็นโดพลาสมิคเรติคูลัมชนิดขรุขระ (rough endoplasmic reticulum : RER)  เป็นเยื่อร่างแหที่มีลักษณะขรุขระเพราะมีไรโบโซมมาจับอยู่ที่เยื่อหุ้ม ทำหน้าที่สังเคราะห์โปรตีนที่เป็นองค์ประกอบของ endomembrane system และโปรตีนที่ส่งออกไปนอกเซลล์ทำหน้าที่คล้ายกันกับเอ็นโดพลาสมิคเรติคูลัมชนิดเรียบ พบในเซลล์สัตว์เท่านั้น 
ภาพที่ 4  เอ็นโพลาสมิคเรติคูลัมชนิดขรุขระ
ที่มา : http://www.baanjomyut.com

5. กอลจิคอมเพล็กซ์ (golgi complex) เป็นโครงสร้างที่ประกอบด้วยถุง ( vacuole) หุ้มด้วยเยื่อบาง ๆ หลาย ๆ ถุงเรียงกัน โดยภายในถุงจะมีสารที่เซลล์จะขนส่งออกนอกเซลล์ ทำหน้าที่ในขบวนการขนถ่าย                    ( secretion ) เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ไลโซโซมและเซลเพลทของพืชในขั้นตอนการแบ่งเซลล์



รูปที่ 5 กอลจิคอมเพล็กซ์
ที่มา : www.biogang.com 

ชีววิทยาของเซลล์ (3)



6. 
ไลโซโซม (lysosome) พบเฉพาะในเซลล์สัตว์ และพืชชั้นต่ำบางชนิด ไลโซโซมมีลักษณะเป็นถุงขนาดเล็ก หลุดมาจากกอลจิ คอมเพล็กซ์ มีเยื่อหุ้มภายในถุงประกอบไปด้วย hydrolytic enzymes ที่สามารถย่อยแป้ง ไขมัน โปรตีน และกรดนิวคลีอิค ทำหน้าที่ย่อยสารอาหาร และย่อยองค์ประกอบภายในเซลล์ (autophagic)ทำลายสิ่งแปลกปลอม เช่น แบคทีเรีย หรือเชื้อโรคจากภายนอกเซลล์ 

ภาพที่ 6 ไลโซโซม
ที่มา : www.ipecp.ac.th

7. ไรโบโซม (ribosome) เป็นองค์ประกอบของเซลล์ที่มีขนาดเล็ก เป็นออร์แกแนลล์ที่ไม่มีเยื่อหุ้ม พบในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดทั้งในคลอโรพลาสท์และ ไมโตคอนเดรีย มีขนาดประมาณ 10-20 มิลลิไมครอน ประกอบไปด้วยสารโปรตีนรวมกับ rRNA (ribosomal RNA) ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โปรตีน ขนาดที่พบในเซลล์ของยูคาริโอตคือชนิด 80 S ขนาดที่พบในแบคทีเรีย, ไมโตคอนเดรีย และคลอโรพลาสท์ คือชนิด 70 S (S ย่อมาจาก Svedberg unit of sedimentation coefficient ซึ่งเป็นค่าความเร็วในการตกตะกอน )   


ภาพที่ 7 ไรโบโซม

ที่มา : www.thaibiotech.info

8.  เซนตริโอล (centriole) รูปทรงกระบอกเล็ก ๆ ประกอบด้วยไมโครทูบูล (microtubule) เรียงตัวกันเป็นวงกลม ทำหน้าที่สร้างเส้นใย สบินเดิล(spindle fiber) ไปเกาะที่เซนโตเมียร์ (centromere) ของโครโมโซมในระยะเมตาเฟสของการแบ่งเซลล์ ทำหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนไหวของเซลล์โดยการบังคับ การหดและคลายตัวของไมโครทูบูล ของแฟลเจลลัม และซิเลีย


ภาพที่ 8 เซนตริโอล
ที่มา : www.myfirstbrain.com 

ชีววิทยาของเซลล์ (4)

9. ไมโตคอนเดรีย (mitochondria )  พบเฉพาะในเซลล์ยูคาริโอต ประกอบไปด้วยโปรตีน ไขมัน DNA RNA และไรโบโซม รูปร่างไม่แน่นอน อาจจะเป็นก้อน (granular) เป็นท่อนยาว ๆ (filamentous) หรือคล้ายกระบอง (club shape) ก็ได้ มีเยื่อหุ้มสองชั้น ภายในมีเอ็นไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการหายใจแบบใช้ออกซิเจน (aerobic respiration) หลายชนิด เป็นแหล่งผลิตพลังงานให้เซลล์ มีความสำคัญต่อการเผาผลาญอาหาร แบคทีเรียไม่มีไมโตคอนเดรีย แต่จะมีโปรตีนและสารอื่น ละลายอยู่ในไซโตโซมทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตพลังงานให้กับเซลล์
ภาพที่ 9 ไมโตรคอนเดรีย
ที่มา : www.thaigoodview.com



10. คลอโรพลาสต์ (chloroplast) เป็นพลาสติด (plastid) ชนิดหนึ่งที่มีสีเขียว พบเฉพาะในพืชและแบคทีเรียบางชนิดที่สังเคราะห์แสงได้ ประกอบไปด้วย คลอโรฟิลล์ (chlorophyll) DNA , RNA ,ไรโบโซม, โปรตีน, คาร์โบโฮเดรทและเอ็นไซม์บางชนิด รูปร่างมีหลายแบบ เช่น รูปไข่ รูปจาน หรือรูปกระบอง ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง 
ภาพที่ 10 คลอโรพลาสต์
ที่มา : guru.sanook.com

11. แวคิวโอล (vacuole) ลักษณะเป็นก้อนกลมใส ๆ มีเยื่อบาง ๆ ล้อมรอบ มองเห็นได้ชัดเจน ทำหน้าที่ได้แตกต่างกันเช่น เป็น Food vacuole เป็น Contractile vacuole เป็น Central vacuole หรือ Tonoplast ในเซลล์พืชจะมีขนาดใหญ่ ภายในจะมีน้ำประมาณเป็นส่วนใหญ่ สารอินทรีย์ สารอนินทรีย์ ออกซิเจน และ คาร์บอนไดออกไซด์ 
ภาพที่ 11 แวคิลโอล
ที่มา : www.myfirstbrain.com

       จะเห็นได้ว่า เซลล์พืชกับเซลล์สัตว์ต่างก็มีองค์ประกอบไม่ครบทุกส่วน ออร์แกแนลล์บางชนิดที่พบในเซลล์พืชก็ไม่อาจพบได้ในเซลล์สัตว์ เช่น คลอโรพลาสต์ เป็นต้น ในการเรียนรู้เรื่องเซลล์และองค์ประกอบของเซลล์ให้เข้าใจได้ง่ายนั้น นักเรียนต้องวาดภาพเซลล์และชี้องค์ประกอบเอง และต้องรู้ด้วยว่าแต่ละออร์แกแนลล์ทำหน้าที่อะไรบ้าง หากฝึกบ่อยๆ ต่อไปแค่เพียงเห็นภาพ นักเรียนก็จะรู้ได้โดยอัตโนมัติว่าสิ่งที่เห็นคืออร์แกแนลล์ชนิดใด พบได้ในเซลล์ชนิดใด และมีหน้าที่อย่างไร สู้ๆนะคะ ครูเชื่อว่าความขยัน มุ่งมั่น อดทน จะทำให้เราไปถึงฝั่งฝันได้อย่างที่ปรารถนา

ปัญหาการโพสต์

วันนี้แอดมินพยายามจะเอาเรื่องชีววิทยาของเซลล์มาลงให้นักเรียนและผู้ที่สนใจได้อ่าน แต่ก็เกิดปัญหาการบันทึกงานซะงั้น เอาเป็นว่า พรุ่งนี้แอดมินจะพยายามมาลงให้ใหม่นะ

วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

ความสำเร็จครั้งแรกในการสร้างเซลล์


              มาพบกันอีกครั้งของปีพุทธศักราชใหม่ หลังจากที่เปิดบล็อกทิ้งไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว (นานพอสมควร) วันนี้ ครูเองไปอ่านเจอการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ จากเวบไซต์วิชาการดอทคอม เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่นักเคมีประสบความสำเร็จในการสร้างเซลล์ (artificial cell) ที่ประกอบไปด้วยออร์แกแนลล์ (organelle) ต่าง ๆ ซึ่งมีปฏิกิริยาเคมีที่ซับซ้อนได้สำเร็จ

              ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิดประกอบไปด้วยเซลล์ไม่ว่าจะพืช หรือสัตว์ แม้กระทั่งจุลินทรีย์ต่าง ๆ ในทางชีววิทยา เซลล์ (cell) เป็นโครงสร้างและหน่วยทำงานที่เล็กที่สุดของสิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิด ในบางครั้งอาจเรียกว่า หน่วยที่เป็นองค์ประกอบของชีวิต (building blocks of life) สิ่งมีชีวิตบางชนิดเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว (unicellular organism) เช่น แบคทีเรีย ยีสต์ แต่สิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เช่น พืช สัตว์ เป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ (multicellular organism)
มนุษย์มีเซลล์อยู่ประมาณ 100 ล้านล้านเซลล์
science-behind_human-body_575x473               แต่ละเซลล์มีองค์ประกอบและดำรงชีวิตได้ด้วยตัวของมันเอง โดยการนำสารอาหารเข้าไปในเซลล์และเปลี่ยนสารอาหารให้กลายเป็นพลังงานเพื่อการดำรงชีวิตและการสืบพันธุ์ องค์ประกอบภายในเซลล์นั้น จะถูกเรียกว่า ออร์แกรเนลล์ ในหนึ่งเซลล์นั้นจะมีออร์แกเนลล์จำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น ในเซลล์สัตว์จะประกอบด้วยออร์แกเนลล์ต่าง ๆ ดังนี้ (1) นิวคลีโอลัส, (2) นิวเคลียส, (3) ไรโบโซม, (4) เวสิเคิล, (5) เอนโดพลาสมิกเรติคูลัมแบบผิวขรุขระ, (6) กอลจิแอปพาราตัส, (7) ระบบเส้นใยของเซลล์, (8) เอนโดพลาสมิกเรติคูลัมแบบผิวเรียบ, (9) ไมโทคอนเดรีย, (10) แวคิวโอล, (11) ไซโทพลาซึม, (12) ไลโซโซม, (13) เซนทริโอล เป็นต้น
450px-Biological_cell.svg
ภาพแสดงองค์ประกอบของเซลล์
cells_7ภาพเปรียบเทียบแสดงหน้าที่ของแต่ละองค์ประกอบภายในเซลล์
               การที่ในหนึ่งเซลล์สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตัวของมันเองนั้น ทำให้ต้องมีกิจกรรมเกิดขึ้นภายในเซลล์เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพลังงานเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต การนำสารอาหารเข้าภายในเซลล์ และการส่งสารต่างๆ ออกสู่ภายนอกเซลล์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการเกิดปฏิกิริยาเคมีที่ซับซ้อน ดังนั้นการสร้างเซลล์เทียมขึ้นจึงนับเป็นเรื่องที่ยาก
                แต่ความยากเหล่านี้ก็นับเป็นความท้าทายของ Jan van Hest นักเคมีจากสถาบันวิจัย Molecules and Materials จาก Radboud University เมือง Nijmegen ประเทศเนเธอร์แลนด์  และ Ruud Peters นักศึกษาปริญญาเอก เป็นเรื่องยากสำหรับการสร้างเซลล์คือการจำลองปฏิกิริยาเคมีทั้งหมดภายในเซลล์ให้เกิดขึ้นภายในห้องทดลอง (Laboratory) เนื่องจากปฏิกิริยาเคมีภายในเซลล์นั้นมีความซับซ้อน และยังเกิดปฏิกิริยาทางเคมีหลายๆ ปฏิกิริยาในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้เซลล์ที่มีขนาดเล็กนี้ยังประกอบไปด้วยหลายออร์แกเนลล์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการทำงาน สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้นักเคมีทั้งหลายพยายามที่จะจำลองเซลล์ของสิ่งมีชีวิตขึ้นมาให้ได้ นอกจากนี้พวกเขายังหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เรียนรู้จุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิตที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีจนเป็นชีววิทยา (สิ่งมีชีวิต)
1-firstplastic
                  Jan van Hest และ Ruud Peter ได้สร้างออร์แกเนลล์ต่างๆ โดยการนำสารตั้งต้นของเซลล์มาห่อหุ้มด้วย polystyrene-b-poly(3-(isocyano-l-alanyl-aminoethyl)thiophene; PS-b-PIAT) ซึ่งเป็นนาโนรีแอกเตอร์ (nanoreactor) หลังจากนั้นก็ทำการห่อหุ้มนาโนรีแอกเตอร์ (ออร์แกเนลล์) ทั้งหมดด้วย polybutadiene-b-poly(ethylene oxide; PB-b-PEO) ซึ่งมีลักษณะเป็นถุงขนาดเล็ก (polymersome) พร้อมทั้งมีการเติมเอนไซม์อิสระ และสารอื่นๆ เพื่อให้เหมือนกับสารที่มีอยู่ในเซลล์ โดยเซลล์ที่สร้างขึ้นนี้จะมีลักษณะเป็นทรงกลม อีกทั้งโพลิเมอร์ที่นำมาใช้หุ้มนาโนรีแอกเตอร์ทนั้นมีคุณสมบัติเหมือนกับเยื่อหุ้มเซลล์ (cell membrane) ของสิ่งมีชีวิต ทำให้สารต่างๆ สามารถผ่านเข้าและออกภายในเซลล์ได้ และเพื่อศึกษาการเกิดปฏิกิริยาเคมี นักวิทยาศาสตร์จึงใช้สารฟลูออเรสเซนต์เพื่อติดตามการเกิดปฏิกิริยาเคมีว่าดำเนินไปอย่างถูกต้องหรือไม่
firstplasticภาพจำลองการสร้างเซลล์ (Ref: http://phys.org/news/2014-01-plastic-cell-organelle.html#jCp)
                  ด้วยเหตุนี้เองทำให้นี่เป็นครั้งแรกที่นักเคมีสามารถสร้างเซลล์จำลองได้สำเร็จ โดยการใช้ใช้โพลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติเสมือนเป็นเยื่อหุ้มเซลล์ ทำให้สามารถทำงานร่วมกับออร์แกเนลล์ต่างๆ ที่สร้างขึ้นได้ และเมื่อสารต่างๆ สามารถผ่านเข้าออกเซลล์ได้ จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีเหมือนกับเซลล์ของสิ่งมีชีวิต
การค้นหาต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิต
                 การสร้างเซลล์ให้เหมือนกับเซลล์จริงๆ ในสิ่งมีชีวิตนั้นกำลังเป็นอีกสาขาหนึ่งที่นิยมกันในวงการวิทยาศาสตร์สาขาเคมี แห่งสถาบันวิจัย Molecules and Materials (IMM) ด้วยความหลากหลายในวิธีการที่จะเนรมิตให้ได้ออกมาเหมือนกับเซลล์ในสิ่งมีชีวิตมากที่สุด เช่นวิธีการของศาสาตราจารย์ Wilhelm Huck ที่สร้างเซลล์จากหยดของสารละลายที่มีคุณสมบัติเหมือนกับกับไซโทพลาสซึม (cytoplasm) หรือวิธีการของ Van Hest ที่สร้างเซลล์โดยใช้โพลิเมอร์ เป็นต้น
                  การสร้างเซลล์ให้เหมือนกับสิ่งมีชีวิตในธรรมชาตินั้นกำลังเข้าใกล้ความเป็นจริงเข้าไปทุกที ปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์มากมายพยายามสร้างเซลล์โดยเลียนแบบเซลล์ของสิ่งมีชีวิต เช่น สร้างเซลล์จากกรดไขมัน (fatty acid) โดยมีความคาดหวังว่าในอนาคตจะสามารถสร้างได้เหมือนมากที่สุด ความมุ่งหวังถัดไปของการพัฒนาการสร้างเซลล์คือการทำให้เซลล์ที่สร้างขึ้นมานั้นสามารถสร้างพลังงานเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตได้ด้วยตัวของมันเอง และสามารถควบคุมการเคลื่อนที่่ของสารเคมีให้ไปยังออร์แกเนลล์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ผลพลอยได้จากความพยายามที่จะสร้างเซลล์ให้เหมือนกับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่สุดนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจเซลล์สิ่งมีชีวิตมากขึ้น ซึ่งหวังว่าในสักวันหนึ่งพวกเขาจะสามารถสร้างบางสิ่งให้เหมือนกับสิ่งมีชีวิตจริงๆ ขึ้นมาได้
evolife
อ้างอิงจาก 
  1. Ruud J. R. W. Peters, Maïté Marguet, Sébastien Marais, Marco W. Fraaije, Jan C. M. van Hest, Sébastien Lecommandoux.Cascade Reactions in Multicompartmentalized PolymersomesAngewandte Chemie International Edition, 2014; 53 (1): 146 DOI:10.1002/anie.201308141
  2. Radboud University Nijmegen. "First plastic cell with working organelle." ScienceDaily, 14 Jan. 2014. Web. 23 Jan. 2014.
ขอขอบคุณเรื่องราวดีๆ จาก www.vichakarn.com และขอขอบคุณนักวิทยาศาสตร์ที่ได้ศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์อันเป็นประโยชน์ต่อโลกและมนุษย์ในอนาคต