Translate

วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

ความสำเร็จครั้งแรกในการสร้างเซลล์


              มาพบกันอีกครั้งของปีพุทธศักราชใหม่ หลังจากที่เปิดบล็อกทิ้งไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว (นานพอสมควร) วันนี้ ครูเองไปอ่านเจอการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ จากเวบไซต์วิชาการดอทคอม เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่นักเคมีประสบความสำเร็จในการสร้างเซลล์ (artificial cell) ที่ประกอบไปด้วยออร์แกแนลล์ (organelle) ต่าง ๆ ซึ่งมีปฏิกิริยาเคมีที่ซับซ้อนได้สำเร็จ

              ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิดประกอบไปด้วยเซลล์ไม่ว่าจะพืช หรือสัตว์ แม้กระทั่งจุลินทรีย์ต่าง ๆ ในทางชีววิทยา เซลล์ (cell) เป็นโครงสร้างและหน่วยทำงานที่เล็กที่สุดของสิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิด ในบางครั้งอาจเรียกว่า หน่วยที่เป็นองค์ประกอบของชีวิต (building blocks of life) สิ่งมีชีวิตบางชนิดเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว (unicellular organism) เช่น แบคทีเรีย ยีสต์ แต่สิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เช่น พืช สัตว์ เป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ (multicellular organism)
มนุษย์มีเซลล์อยู่ประมาณ 100 ล้านล้านเซลล์
science-behind_human-body_575x473               แต่ละเซลล์มีองค์ประกอบและดำรงชีวิตได้ด้วยตัวของมันเอง โดยการนำสารอาหารเข้าไปในเซลล์และเปลี่ยนสารอาหารให้กลายเป็นพลังงานเพื่อการดำรงชีวิตและการสืบพันธุ์ องค์ประกอบภายในเซลล์นั้น จะถูกเรียกว่า ออร์แกรเนลล์ ในหนึ่งเซลล์นั้นจะมีออร์แกเนลล์จำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น ในเซลล์สัตว์จะประกอบด้วยออร์แกเนลล์ต่าง ๆ ดังนี้ (1) นิวคลีโอลัส, (2) นิวเคลียส, (3) ไรโบโซม, (4) เวสิเคิล, (5) เอนโดพลาสมิกเรติคูลัมแบบผิวขรุขระ, (6) กอลจิแอปพาราตัส, (7) ระบบเส้นใยของเซลล์, (8) เอนโดพลาสมิกเรติคูลัมแบบผิวเรียบ, (9) ไมโทคอนเดรีย, (10) แวคิวโอล, (11) ไซโทพลาซึม, (12) ไลโซโซม, (13) เซนทริโอล เป็นต้น
450px-Biological_cell.svg
ภาพแสดงองค์ประกอบของเซลล์
cells_7ภาพเปรียบเทียบแสดงหน้าที่ของแต่ละองค์ประกอบภายในเซลล์
               การที่ในหนึ่งเซลล์สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตัวของมันเองนั้น ทำให้ต้องมีกิจกรรมเกิดขึ้นภายในเซลล์เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพลังงานเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต การนำสารอาหารเข้าภายในเซลล์ และการส่งสารต่างๆ ออกสู่ภายนอกเซลล์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการเกิดปฏิกิริยาเคมีที่ซับซ้อน ดังนั้นการสร้างเซลล์เทียมขึ้นจึงนับเป็นเรื่องที่ยาก
                แต่ความยากเหล่านี้ก็นับเป็นความท้าทายของ Jan van Hest นักเคมีจากสถาบันวิจัย Molecules and Materials จาก Radboud University เมือง Nijmegen ประเทศเนเธอร์แลนด์  และ Ruud Peters นักศึกษาปริญญาเอก เป็นเรื่องยากสำหรับการสร้างเซลล์คือการจำลองปฏิกิริยาเคมีทั้งหมดภายในเซลล์ให้เกิดขึ้นภายในห้องทดลอง (Laboratory) เนื่องจากปฏิกิริยาเคมีภายในเซลล์นั้นมีความซับซ้อน และยังเกิดปฏิกิริยาทางเคมีหลายๆ ปฏิกิริยาในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้เซลล์ที่มีขนาดเล็กนี้ยังประกอบไปด้วยหลายออร์แกเนลล์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการทำงาน สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้นักเคมีทั้งหลายพยายามที่จะจำลองเซลล์ของสิ่งมีชีวิตขึ้นมาให้ได้ นอกจากนี้พวกเขายังหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เรียนรู้จุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิตที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีจนเป็นชีววิทยา (สิ่งมีชีวิต)
1-firstplastic
                  Jan van Hest และ Ruud Peter ได้สร้างออร์แกเนลล์ต่างๆ โดยการนำสารตั้งต้นของเซลล์มาห่อหุ้มด้วย polystyrene-b-poly(3-(isocyano-l-alanyl-aminoethyl)thiophene; PS-b-PIAT) ซึ่งเป็นนาโนรีแอกเตอร์ (nanoreactor) หลังจากนั้นก็ทำการห่อหุ้มนาโนรีแอกเตอร์ (ออร์แกเนลล์) ทั้งหมดด้วย polybutadiene-b-poly(ethylene oxide; PB-b-PEO) ซึ่งมีลักษณะเป็นถุงขนาดเล็ก (polymersome) พร้อมทั้งมีการเติมเอนไซม์อิสระ และสารอื่นๆ เพื่อให้เหมือนกับสารที่มีอยู่ในเซลล์ โดยเซลล์ที่สร้างขึ้นนี้จะมีลักษณะเป็นทรงกลม อีกทั้งโพลิเมอร์ที่นำมาใช้หุ้มนาโนรีแอกเตอร์ทนั้นมีคุณสมบัติเหมือนกับเยื่อหุ้มเซลล์ (cell membrane) ของสิ่งมีชีวิต ทำให้สารต่างๆ สามารถผ่านเข้าและออกภายในเซลล์ได้ และเพื่อศึกษาการเกิดปฏิกิริยาเคมี นักวิทยาศาสตร์จึงใช้สารฟลูออเรสเซนต์เพื่อติดตามการเกิดปฏิกิริยาเคมีว่าดำเนินไปอย่างถูกต้องหรือไม่
firstplasticภาพจำลองการสร้างเซลล์ (Ref: http://phys.org/news/2014-01-plastic-cell-organelle.html#jCp)
                  ด้วยเหตุนี้เองทำให้นี่เป็นครั้งแรกที่นักเคมีสามารถสร้างเซลล์จำลองได้สำเร็จ โดยการใช้ใช้โพลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติเสมือนเป็นเยื่อหุ้มเซลล์ ทำให้สามารถทำงานร่วมกับออร์แกเนลล์ต่างๆ ที่สร้างขึ้นได้ และเมื่อสารต่างๆ สามารถผ่านเข้าออกเซลล์ได้ จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีเหมือนกับเซลล์ของสิ่งมีชีวิต
การค้นหาต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิต
                 การสร้างเซลล์ให้เหมือนกับเซลล์จริงๆ ในสิ่งมีชีวิตนั้นกำลังเป็นอีกสาขาหนึ่งที่นิยมกันในวงการวิทยาศาสตร์สาขาเคมี แห่งสถาบันวิจัย Molecules and Materials (IMM) ด้วยความหลากหลายในวิธีการที่จะเนรมิตให้ได้ออกมาเหมือนกับเซลล์ในสิ่งมีชีวิตมากที่สุด เช่นวิธีการของศาสาตราจารย์ Wilhelm Huck ที่สร้างเซลล์จากหยดของสารละลายที่มีคุณสมบัติเหมือนกับกับไซโทพลาสซึม (cytoplasm) หรือวิธีการของ Van Hest ที่สร้างเซลล์โดยใช้โพลิเมอร์ เป็นต้น
                  การสร้างเซลล์ให้เหมือนกับสิ่งมีชีวิตในธรรมชาตินั้นกำลังเข้าใกล้ความเป็นจริงเข้าไปทุกที ปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์มากมายพยายามสร้างเซลล์โดยเลียนแบบเซลล์ของสิ่งมีชีวิต เช่น สร้างเซลล์จากกรดไขมัน (fatty acid) โดยมีความคาดหวังว่าในอนาคตจะสามารถสร้างได้เหมือนมากที่สุด ความมุ่งหวังถัดไปของการพัฒนาการสร้างเซลล์คือการทำให้เซลล์ที่สร้างขึ้นมานั้นสามารถสร้างพลังงานเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตได้ด้วยตัวของมันเอง และสามารถควบคุมการเคลื่อนที่่ของสารเคมีให้ไปยังออร์แกเนลล์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ผลพลอยได้จากความพยายามที่จะสร้างเซลล์ให้เหมือนกับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่สุดนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจเซลล์สิ่งมีชีวิตมากขึ้น ซึ่งหวังว่าในสักวันหนึ่งพวกเขาจะสามารถสร้างบางสิ่งให้เหมือนกับสิ่งมีชีวิตจริงๆ ขึ้นมาได้
evolife
อ้างอิงจาก 
  1. Ruud J. R. W. Peters, Maïté Marguet, Sébastien Marais, Marco W. Fraaije, Jan C. M. van Hest, Sébastien Lecommandoux.Cascade Reactions in Multicompartmentalized PolymersomesAngewandte Chemie International Edition, 2014; 53 (1): 146 DOI:10.1002/anie.201308141
  2. Radboud University Nijmegen. "First plastic cell with working organelle." ScienceDaily, 14 Jan. 2014. Web. 23 Jan. 2014.
ขอขอบคุณเรื่องราวดีๆ จาก www.vichakarn.com และขอขอบคุณนักวิทยาศาสตร์ที่ได้ศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์อันเป็นประโยชน์ต่อโลกและมนุษย์ในอนาคต 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น