1. หลุมเหมืองแร่บนดิน
การทำเหมืองแร่บนดิน เป็นการทำเหมืองขนาดใหญ่เพื่อหาแร่ต่างๆ เช่น ทอง ทองแดง ยูเรเนียม และอื่นๆ ซึ่งขั้นตอนการทำเหมืองแร่จะมีหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การขุดเปลือกดินที่ทับถมบนชั้นแร่ออกไปทีละชั้น และทำการขยายหลุมให้กว้างและลึกขึ้นเรื่อยๆ เพราะพวกแร่มีค่าต่างๆ จะอยู่ใต้ดินค่ะ ยิ่งขุดยิ่งเจอ เจอเยอะยิ่งรวย ฮ่าๆ พอเหมืองมีขนาดใหญ่มากขึ้น ก็จะเริ่มมองเห็นได้ไกลขึ้น คล้ายๆ กับที่เรามองจากที่สูงแล้วเห็นภูเขาก็รู้ว่าเป็นภูเขา เห็นแม่น้ำก็รู้ว่าเป็นแม่น้ำนั่นแหละค่ะ จนบางเหมืองนั้นใหญ่จนมองเห็นจากนอกโลกเลยทีเดียว
ยกตัวอย่างหลุมเหมืองแร่ที่มีขนาดใหญ่ (มาก) ก็คือ เหมืองเพชรในประเทศรัสเซีย ใหญ่ขนาดที่ว่าถ้าคนไปยืนในเหมืองจะตัวเล็กยิ่งกว่ามดอีก เหมืองนี้มีความลึกถึง 523 เมตร และกว้าง 1,200 เมตร อย่างไรก็ตามเหมืองนี้ยังไม่ใช่เหมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกนะคะ แต่ที่ยกตัวอย่างเหมืองนี้ขึ้นมาเพราะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เกิดขึ้น คือ เป็นสาเหตุที่ทำให้เฮลิคอปเตอร์ที่ทำการบินอยู่ ตกลงไปหลายลำ! ซึ่งเกิดจากแรงดึงดูดภายในหลุม สุดท้ายแล้วก็ต้องมีการประกาศออกมาเลยว่าเป็น no-fly zone ห้ามบินผ่านหลุมนี้นั่นเองค่ะ
2. ฤดูกาลที่เปลี่ยนไป
ภาพโลกที่เราเห็นจากดาวเทียมต่างๆ มักจะเห็นเป็นสีเขียวหรือสีฟ้าเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นพื้นที่บกและน้ำ แต่ไม่น่าเชื่อว่าจากอวกาศสามารถเห็นความเป็นไปของฤดูกาลบนโลกใบนี้ได้ด้วย โดยภาพนี้นาซ่าได้เอาภาพถ่ายโลกในแต่ละเดือนมาเรียบเรียงต่อกันเป็นภาพเคลื่อนไหว ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การไหลของน้ำแข็งขั้วโลก ความแห้งแล้ง และฤดูฝนในเขตร้อนชื้น รวมไปถึงวงจรการเจริญเติบโตและตายของพืชพันธุ์ต่างๆ ทั่วโลก
และที่ดูเป็นที่น่าสนใจก็คือ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำแข็งในช่วงปี อย่างน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติก จะมีปริมาณ 15 ล้านตารางกิโลเมตรในเดือนที่หนาวที่สุดของปี และหายลงไปครึงนึง หรืออย่างในแอนตาร์กติก ปริมาณน้ำแข็งจะลดลงจาก 18 ล้านตารางกิโลเมตร เหลือเพียง 3 ล้านตารางกิโลเมตรเท่านั้น
3. ไฟป่า
ไฟป่าเป็นภัยพิบัติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายเขตร้อน ควันและขี้เถ้าจากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงสามารถลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าได้นับร้อยไมล์ จนนักบินอวกาศสามารถบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้น จากภาพตัวอย่าง เป็นภาพไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อเดือนตุลาคมปี 2003 เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเจอพายุซาตาอาน่า (Santa Ana) เข้าไปอีก ไฟป่าจึงลามอย่างรวดเร็วกินพื้นที่ 10,000 เอเคอร์ในเวลาเพียง 6 ชั่วโมง
4. ภูเขาไฟระเบิด
ภูเขาไฟระเบิดเป็นอีกหนึ่งสิ่งสุดเซอร์ไพร์สที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมองเห็นและเก็บภาพมาได้ เพราะในแต่ละปีภูเขาไฟเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และโอกาสที่จะได้ภาพตอนกำลังปะทุยิ่งหาได้ยากกว่า
สำหรับภาพนี้ คือ ภูเขาไฟซารีย์เชฟ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก นับเป็นภูขาไฟที่ยังมีการปะทุที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1946 เป็นต้นมา เคยปะทุมาแล้ว 8 ครั้ง และในปี 2009 ก็ได้ประทุและระเบิดขึ้นมาอย่างรุนแรงจนทำให้เมฆที่ปกคลุมอยู่เปิดออก นักบินอวกาศก็เลยได้ภาพสวยๆ มาแบบนี้
5. ปรากฏการณ์แพลงก์ตอนพืช
แพลงก์ตอนเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก จะอาศัยอยู่ในน้ำ แต่การอาศัยอยู่ในน้ำของแพลงก์ตอนจะเป็นลักษณะการใช้ชีวิตแบบล่องลอยไปเรื่อยๆ แล้วแต่คลื่นลมและกระแสน้ำจะนำพา เราจะมองแพลงก์ตอนไม่เห็นด้วยตาเปล่า เพราะมีขนาดเล็กมาก จะเห็นก็ต่อเมื่อเอาไปส่องกล้องจุลทรรศน์
อย่างไรก็ตาม ถ้ามันมารวมตัวกันมากๆ เราก็สามารถเห็นได้ค่ะ จากปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม ซึ่งเกิดจากแพงก์ตอนพืชเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนมีจำนวนเยอะมากทำให้สีน้ำทะเลเปลี่ยนไปตามสีของแพลงก์ตอน อย่างในภาพนี้ก็จะเป็นสาหร่ายหรือแพลงก์ตอนสีเขียวแกมน้ำเงินค่ะ
น้องๆ หลายคนคงรู้มาแล้วว่าแพลงก์ตอนนั้นมี 2 ชนิด คือ แพลงก์ตอนพืช และ แพลงก์ตอนสัตว์ แต่อาจจะยังไม่รู้ว่าแพลงก์ตอน 2 ชนิดนี้ต่างกันยังไง แพลงก์ตอนพืชนั้นจะเป็นพืชเซลล์เดียว เป็นสาหร่ายชนิดหนึ่ง แพลงก์ตอนพืชมีบทบาทสำคัญมากๆ ต่อระบบนิเวศของแหล่งน้ำ เพราะเป็นผู้ผลิตเบื้องต้นของห่วงโซ่อาหาร และเป็นอาหารของแพลงก์ตอนสัตว์ด้วย จากนั้นแพลงก์ตอนสัตว์ก็จะถูกกินด้วยสัตว์น้ำอื่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ เป็นห่วงโซ่อาหารนั่นเอง
6. เส้นแบ่งเขตประเทศระหว่างอินเดียกับปากีสถาน
เวลาเรานั่งเครื่องบินผ่านบางประเทศ เราแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผ่านประเทศนั้นไปแล้ว เพราะทุกอย่างดูกลมกลืนไปหมด แต่สำหรับ 2 ประเทศนี้อย่าว่าแต่เครื่องบินเลยค่ะ มองจากอวกาศมายังเห็น และภาพที่น้องๆ เห็นก็คือ "รั้วแบ่งเขตแดนระหว่างอินเดียและปากีสถาน" รั้วนี้จะเปิดไฟสีส้มให้ความสว่างยาวกว่า 2,900 กิโลเมตรทีเดียวค่ะ ที่เปิดไฟสว่างได้โล่ขนาดนี้ก็เพื่อป้องกันการก่อการร้ายและลักลอบอาวุธ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาชายแดนประเทศอินเดียกับปากีสถานถือว่าเป็นสถานที่ที่อันตรายแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว
7. เหตุการณ์เครื่องบินชนตึกเวิร์ลเทรด ประเทศสหรัฐอเมริกา 11 ก.ย.
เหตุการณ์เขย่าขวัญคนทั้งโลกที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์อย่างวินาศกรรม 11 กันยายน ณ เวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ยังเป็นกล่าวขวัญถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น นอกจากภาพเหตุการณ์ที่ได้จากอาคารโดยรอบตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ได้จากบนอวกาศ
Frank Cullbertson นักบินอวกาศชาวอเมริกันที่ไม่ได้อยู่พื้นโลกวันที่ 11 กันยายน แต่เขาก็รับรู้เหตุการณ์ได้ทุกอย่าง ในขณะที่กำลังโคจรอยู่ที่ระดับความสูง 330 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก บนสถานีอวกาศนานาชาติ เขาได้ยินข่าวการถูกก่อการร้ายขณะที่จะผ่านไปที่เมืองนิวอิงแลนด์ ทันทีที่ได้ยินก็รีบไปที่หน้าต่าง และแน่นอนว่าภาพที่เห็นคือกลุ่มควันที่พวยพุ่งจากนิวยอร์คขึ้นสู่ท้องฟ้า แม้ตกใจ แต่ Frank Cullbertson ก็ถ่ายภาพนั้นไว้ทันที ปัจจุบันภาพนี้นับเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่สามารถบันทึกเหตุการณ์ในวันนั้นได้ในมุมที่ไม่มีใครสามารถถ่ายได้
8. พื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย
ประโยชน์อย่างหนึ่งของการมองจากที่สูงลงมายังพื้นโลก คือ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลก ยกตัวอย่างที่ง่ายที่สุดก็คือ การทำลายป่า ถ้าน้องๆ มีโอกาสได้ย้อนไปดูภาพดาวเทียมเมื่อหลายสิบปีที่แล้วมาเทียบกับปัจจุบัน ก็จะเห็นเองค่ะว่าผืนป่านั้นหายไปเยอะเลย
ภาพถ่ายดาวเทียมที่หยิบมาให้ดูนั้น เป็นภาพจากดาวเทียม Landsat 1 ของนาซ่า ถ่ายจากผืนป่าอเมซอน เก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2000 จนถึง 2012 ค่ะ ผ่านไป 12 ปี ปรากฏว่าเนื้อที่ป่าที่เคยเขียมชอุ่ม หายไปกว่า 2,500 ตารางกิโลเมตร เท่านั้นไม่พอ ถ้าย้อนไปในช่วงปี 1980 นับมาจนถึงปัจจุบัน พื้นที่ป่าอเมซอนหายไปแล้วกว่า 360,000 ตารางกิโลเมตร บอกได้คำเดียวว่าช็อก!
9. พายุทราย
3 อย่างสำคัญที่จะทำให้เกิดพายุทรายหรือพายุฝุ่น ก็คือ ลม ทรายหรือฝุ่น และความแห้งแล้ง เพราะปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นในเขตทะเลทรายช่วงฤดูแล้ง ลมจะพัดเอาฝุ่นทรายที่มีความละเอียดสูงปลิวไปกับลม ปริมาณของฝุ่นทรายจะมากน้อยขึ้นอยู่กับความเร็วลม โดยความเร็วสูงสุดนั้นสูงถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยล่ะค่ะ
การมองเห็นพายุทรายจากสถานีอวกาศนานาชาติจะทำให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าพายุขนาดใหญ่ขนาดไหน ยกตัวอย่างเช่นภาพนี้ เป็นภาพพายุทรายขนาดใหญ่จากประเทศอียิปต์ที่กำลังพัดผ่านทะเลแดงค่ะ
10. เส้นแบ่งเขตระหว่างชาติที่มั่งคั่งกับชาติที่ยากจน
นอกจากเรื่องธรรมชาติแล้ว ภาพจากอวกาศที่ส่องลงมายังโลก ยังสะท้อนอะไรได้อีกหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องของความเจริญที่ไม่เท่าเทียมกันของแต่ละประเทศ ที่สามารถมองเห็นจากพื้นดินสู่อวกาศนับร้อยๆ ไมล์
John Grunfeld นักบินอวกาศของนาซ่าได้อธิบายเกี่ยวกับประเทศที่มั่งคั่งและขาดแคลนว่าสามารถสังเกตได้จากสี ประเทศที่มั่งคั่งมักจะเป็นสีเขียวเพราะอุดมสมบูรณ์ ส่วนประเทศยากจน ระบบการจัดสรรน้ำยังไม่ดีพอ ก็จะแห้งแล้งจนมองเห็นได้เป็นสีน้ำตาล นอกจากนี้ยามค่ำคืนก็ยังสลัวๆ ไร้แสงไฟ เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านที่เปิดไฟกันทั้งเมืองยิ่งเป็นภาพที่ตัดกันสุดๆ
ภาพด้านบนเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมาก นั่นก็คือ ประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ยามค่ำคืนของเกาหลีใต้(มุมล่างขวา) นั้นสว่างไสวไปทั่วประเทศ ประเทศจีนคือส่วนที่อยู่ด้านบนและด้านข้าง แล้วไหนเกาหลีเหนือล่ะ? ก็ตรงกลางภาพนั่นไงคะ มืดสลัวจนแทบจะหายไปจากภาพนี้ (หลายคนคงนึกว่าเป็นมหาสมุทรด้วยซ้ำ) ที่พอจะเห็นได้ก็คือจุดตรงกลาง คือเมืองเปียงยาง เมืองหลวงของประเทศเกาหลีเหนือค่ะ จากภาพนี้ก็สะท้อนความเป็นจริงได้ว่ามีอีกหลายเมืองที่อยู่โดยขาดไฟฟ้าใช้ค่ะ
เป็นยังไงบ้างคะ อึ้งกันเลยใช่มั้ยล่ะ ปกติการส่งดาวเทียมหรือนักบินอวกาศขึ้นไปยังอวกาศ ส่วนหนึ่งก็เพื่อประโยชน์ด้านต่างๆ ที่จะเอามาพัฒนาโลกเราต่อไป แต่จากภาพที่นำมาให้น้องๆ ดู ถือว่าเป็นของแถมที่ไม่ได้ดูกันได้บ่อยๆ เช่น เหตุการณ์ 11 กันยายน หรือ ภูเขาไฟระเบิด จริงๆ ให้เรียกว่าภาพประวัติศาสตร์หาดูยากจะถูกต้องกว่านะ^^ น้องๆ ชอบภาพไหน คอมเม้นท์บอกกันด้วยน้า
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
http://listverse.com/2014/09/05/10-surprising-things-you-can-see-from-space/,
http://earthobservatory.nasa.gov/NaturalHazards/view.php?id=12373,
http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/e/ec/BlueMarble_monthlies_animation.gif,
http://earthobservatory.nasa.gov/Features/WorldOfChange/deforestation.php?all=y,
http://earthobservatory.nasa.gov/NaturalHazards/view.php?id=12373,
http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/e/ec/BlueMarble_monthlies_animation.gif,
http://earthobservatory.nasa.gov/Features/WorldOfChange/deforestation.php?all=y,
www.oknation.net/blog/print.php?id=269955
ที่มา http://www.dek-d.com/education/35878/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น