Translate

วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

​วิเคราะห์สมองผู้ควบคุมความฝัน



การควบคุมความฝันของคนบางคนอาจจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง แต่สำหรับบางคนนั้นทำได้ นักวิทยาศาสตร์เรียกความฝันแบบนี้ว่า Lucid dreaming คือ สภาวะที่คนเรารู้สึกตัวและตระหนักได้ว่า ตัวเองอยู่ในความฝันในขณะที่ฝันอยู่
ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ที่สถาบันวิจัยแม็กซ์แพลงค์เพื่อการพัฒนามนุษย์ในกรุงเบอร์ลิน และสถาบันวิจัยแม็กซ์แพลงค์เชิงจิตวิทยาในนครมิวนิค ได้ค้นพบว่า สมองส่วนที่ทำให้เรารู้จ้กตัวเองจะมีการกระตุ้นมากขึ้นในคนที่มี Lucid dream ดังนั้นแล้ว คนที่มี Lucid dream ก็อาจจะมีการรู้จักตัวตนของตัวเองมากกว่าปกติด้วยก็ได้ยามที่ตื่นนอน
ส่วนใหญ่แล้ว Lucid dream มักจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้งในรอบปีและมักจะเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ ในแต่ละคืน นอกจากนี้ในอินเตอร์เน็ตยังมีหลักการและเทคนิคเพื่อการควบคุมความฝันมากมาย ซึ่งบางที Lucid dream นี้ก็อาจจะเกี่ยวข้องกับความสามารถของมนุษย์ในการรู้จักกับตัวเอง หรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า Metacognition
นักประสาทวิทยาที่สถาบันวิจัยแม็กซ์แพลงค์จึงได้ทำการเปรียบเทียบโครงสร้างสมองของคนที่มี Lucid dream บ่อยๆ กับคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์นี้เลย จนกระทั่งพบว่า สมองส่วน anterior prefrontal cortex หรือสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการรู้ตัวในระดับจิตรู้สำนึกที่จะทำงานและมีหน้าที่สำคัญสำหรับการรับรู้ตัวเอง จะมีการกระตุ้นมากขึ้นในกลุ่มที่มี Lucid dream บ่อยๆ
นอกจากนี้ ในสมองส่วน anterior prefrontal cortex นั้น คนที่มี Lucid dream บ่อยๆ จะการเชื่อมต่อในสมองส่วนนี้ที่มากกว่ากลุ่มที่ไม่มีความฝันแบบนี้ ทฤษฎีนี้ได้รับการสนับสนุนจากภาพถ่ายสมองเมื่อให้อาสาสมัครทำแบบทดสอบการรับรู้ตัวเองขณะตื่นนอน ภาพถ่ายเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมในสมองส่วน prefrontal cortex จะมีมากขึ้นในคนที่มี Lucid dream
"ผลการศึกษาของเราบอกว่า การรับรู้ตัวเองในชีวิตประจำวันนี้สะท้อนให้เห็นว่า คนนั้นอาจจะสามารถควบคุมความฝันของตัวเองได้อย่างง่ายดาย" ดร.เอลิซา ฟิเลวิช นักวิจัยระดับหลังปริญญาเอกที่สถาบันแม็กซ์แพลงค์เผย
นักวิจัยหวังว่าจะนำการศึกษานี้ไปต่อยอดเพื่อดูว่าทักษะ metacognitive นี้สามารถฝึกฝนได้หรือไม่ และอาจจะให้อาสามัครที่มี Lucid dream ลองฝึกฝน เพื่อดูว่าสามารถรับรู้ตัวเองได้มากขึ้นจริงหรือไม่ในการทดสอบเมื่อตื่นนอน
อ้างอิง: Max-Planck-Gesellschaft. (2015, January 23). Lucid dreams and metacognition: Awareness of thinking; awareness of dreaming. ScienceDaily. Retrieved January 25, 2015 from www.sciencedaily.com/releases/2015/01/150123135112.htm
งานวิจัย: Filevich, E., Dresler, M., Brick, T.R., Kühn, S. Metacognitive Mechanisms Underlying Lucid DreamingThe Journal of Neuroscience, 2015 DOI:10.1523/JNEUROSCI.3342-14.201

ที่มา: http://www.vcharkarn.com/vnews/501595

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น