ภาพ ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก
จากปัญหาขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ในสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพหลาย ๆ ท่านได้ตระหนักถึงปัญหา และร่วมมือกันเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาเหล่านี้ ดังเช่น เมื่อปีที่แล้ว (ค.ศ. 2015) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน Craig Criddle จาก Stanford Woods Institute for the Environment ได้ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ชาวจีน Jun Yang จาก Beihang University ทำการวิจัยและค้นพบว่า มีหนอนชนิดหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในวงการเลี้ยงสัตว์ ชื่อว่า Mealworm หรือหนอนนก สามารถกินและย่อยสลายพลาสติกที่ปกติย่อยสลายได้ยากมาก (หรือนับได้ว่าย่อยสลายไม่ได้) ในธรรมชาติ เช่น กล่องโฟม (styrofoam) ที่ทำจากพอลิเมอร์ชื่อ พอลิสไตรีน (polystyrene) โดยการย่อยสลายเกิดขึ้นผ่านจุลินทรีย์ในลำไส้ของหนอนนกนั่นเอง
ภาพ การกินหรือแทะเล็มพลาสติก (styrofoam) ของหนอนนก (Mealworm)
ที่มาภาพ : https://news.stanford.edu/pr/2015/pr-worms-digest-plastics-092915.html
ที่มาภาพ : https://news.stanford.edu/pr/2015/pr-worms-digest-plastics-092915.html
ก่อนหน้านี้ คณะวิจัยของ Wei-Min Wu จาก Department of Civil and Environmental Engineering, Standford University ได้พบว่า wax worms ตัวอ่อนของ meal moths อินเดีย (ผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง) มีจุลินทรีย์ในลำไส้ของพวกมันที่สามารถย่อยสลายพอลิเอธิลีน (polyethylene) ซึ่งใช้เป็นพลาสติกที่ใช้ในการผลิตถุงพลาสติก หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าถุงก๊อบแก๊บ มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ แต่อย่างไรก็ดี การที่สิ่งมีชีวิตย่อยสลายพอลิเอธิลีนได้นี้ไม่ใช่สิ่งที่ใหม่เท่าไหร่นัก เนื่องจากในปี 2008 Daniel Burd นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากประเทศแคนาดา ได้รับรางวัลระดับโลกหลายรางวัลจากการค้นพบแบคทีเรียที่สามารถย่อยสลายพอลิเอธิลีนได้ โดยเขาสามารถแยกเชื้อจุลินทรีย์ คือแบคทีเรียที่สามารถย่อยพอลิเอธิลีนได้ 2 สกุลคือ Pseudomonas และ Sphingomonas จากแหล่งที่มีการทิ้งขยะประเภทพลาสติก ล่าสุด Shosuke Yoshida และทีมงานนักวิจัย สาขาชีววิทยาประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์สิ่งทอ (Textile Science ) สถาบัน Kyoto Institute of Technology เมือง Kyoto ได้ค้นพบแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Ideonella sakaiensis201-F6 สามารถย่อยสลายพลาสติก โพลิเอทิลีน เทอเรฟธาเลต (Poly(ethylene terephthalate)) หรือเพท (PET) ซึ่งเป็นพลาสติกที่ใช้ทำขวดน้ำดื่ม และเป็นอีกหนึ่งขยะพลาสติกที่มีมากที่สุด โดยใช้เอนไซม์ที่มีเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของพอลิเมอร์เพทสายยาวให้กลายเป็นมอนอเมอร์หรือหน่วยซ้ำซึ่งเป็นเสมือนสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตพอลิเมอร์ชนิดดังกล่าว
นับได้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของมวลมนุษยชาติที่จะสามารถแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกจนก่อเกิดมลพิษและความเปลี่ยนแปลงในเชิงลบได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องมิใช่แก้ปัญหาเฉพาะที่ปลายเหตุเท่านั้น แต่ต้องเกิดจากการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เริ่มการปลูกฝังจิตสาธารณะ ปลูกฝังสามัญสำนึกของผู้บริโภค หรือแม้กระทั่งการออกกฎหมาย ที่จะทำให้ประชากรโลกตื่นตัว ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาขยะพลาสติก และช่วยลดการใช้พลาสติกที่ยากแก่การย่อยสลายต่อไป
อ้างอิง : http://www.vcharkarn.com/varticle/505128