Translate

วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นานแค่ไหนแล้วที่คุณไม่ได้ใช้ไม้ขีดไฟ?

หากพูดถึงการก่อไฟหรือการจุดไฟเพื่อทำอะไรสักอย่างหนึ่ง หลายคนต้องร้องหาไฟแช็กกันจ้าละหวั่น แน่นอนใครจะมัวแต่ไปเอาไม้มาถูกันให้เกิดประกายไฟ หรือการนำหินมากระเทาะกันให้เกิดสะเก็ดไฟ ให้เหงื่อตกเล่นอยู่หลายชั่วโมง ไฟแช็กสิ! ง่ายๆ รวดเร็วราวดีดนิ้วเสกไฟ  แต่ก่อนจะมีไฟแช็กให้เราได้จุดไฟกันอย่างสะดวกสบายแล้ว มีใครเคยนึกถึงไม้ขีดไฟกันบ้างมั๊ย? เคยถามตัวเองมั๊ยว่าจุดไฟด้วยไม้ขีดไฟครั้งสุดท้ายเมื่อไร หรือเด็กรุ่นใหม่บางคนเคยได้ใช้ไม้ขีดไฟกันหรือยัง
ถ้าเรายังเป็นมนุษย์ถ้ำ เราคงตื่นเต้นกันมากที่มีสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถจุดไฟได้อย่างไม้ขีดไฟ แต่บังเอิญเราไม่ใช่มนุษย์ถ้ำกันแล้ว เราเลยเฉยๆ จนแทบจะไม่ใส่ใจกับของใช้ในอดีต วันนี้ก็เลยอยากจะมาย้อนรอยไม้ขีดไฟให้ทุกคนได้รับรู้ไปพร้อมๆ กับการอ่าน
ไม้ขีดไฟติดไฟได้อย่างไร?
ปัจจุบันนี้เราใช้วัสดุที่ค่อนข้างปลอดภัยกว่าในยุคก่อนๆ มาก และไม้ขีดไฟจะติดไฟได้เมื่อขีดหัวไม้ขีดลงบนข้างกลักที่เคลือบด้วยฟอสฟอรัสแดง ทำให้ฟอสฟอรัสแดงระเหิดออกมารวมกับออกซิเจนที่ได้จากโพแทสเซียมคลอเรตที่หัวไม้ขีด จึงทำให้ไม้ขีดติดไฟขึ้นได้
ถ้าวัสดุที่ใช้กันในปัจจุบันมีความปลอดภัยกว่ายุคก่อนหน้า แล้วยุคก่อนหน้าใช้วัสดุอะไรในการทำไม้ขีดไฟ แล้วเราเริ่มใช้ไม้ขีดไฟกันตั้งแต่เมื่อไร?
เราเริ่มใช้ไม้ขีดไฟกันได้อย่างไร?
ไม้ขีดไฟ เจ้าก้านเล็กๆ หัวแดงๆ ที่เมื่อเอาส่วนไปเสียดสีกับข้างกล่องแล้วติดไฟ (บางอันก็ติดบ้างไม่ติดบ้าง) และการใช้งานในปัจจุบันนี้ จะมีเห็นให้ใช้ส่วนใหญ่ก็คงจะมีแต่ในวัดหรือตามอนุสาวรีย์ หรือสถานที่ศักดิ์สิทธ์ทั้งหลายที่คนมักไปกราบไหว้บูชา (เพื่อขอพร) แต่ใครจะรู้ว่ามันมีการเดินทางที่ยาวนานใช่เล่นเลยทีเดียว
ในปี พ.ศ. 1043 -1120 ในช่วงที่จีนตกอยู่ในช่วงสงครามชนเผ่า การหุงหาอาหารขาดแคลนเชื้อไฟ เหล่านางกำนัลจึงใช้ก้านไม้สนเล็กๆ ชุบด้วยกำมะถัน ซึ่งเชื้อเพลิงนี้จะติดไฟได้เมื่อโดนสะเก็ดไฟเพียงเล็กน้อย และนี่ก็คือต้นกำเนิดของไม้ขีดไฟ แต่ในเวลานั้น สิ่งประดิษฐ์นี้ถูกเรียกว่า ก้านไฟหนึ่งนิ้ว
ช่วงก่อนปีพ.ศ. 2073 ไม่พบหลักฐานของไม้ขีดไฟในยุโรป แต่คาดการว่าเจ้า “ก้านไฟหนึ่งนิ้ว” นี้คงเข้าสู่ทวีปยุโรปพร้อมกับนักเดินทางช่วยุโรปที่เดินทางไปจีนในช่วงเวาลาเดียวกับมาร์โค โปโล และชาวยุโรปได้ใช้ไม้สนชุบกำมะถันนั้นเรื่อยมา
พ.ศ. 2370 จอห์น วอร์คเกอร์ (John Walker) นักเคมีชาวอังกฤษ ทำการจุ่มปลายไม้ลงในส่วนผสมของ แอนติโมนีไตรซัลไฟด์, โพแทสเซียมคลอเรตและกาวจากยางไม้ ซึ่งเมื่อนำไปขีดลงบนวัตถุจะทำให้เกิดประกายไฟขึ้นวอร์คเกอร์จึงเรียกสิ่งประดิษฐ์ของเขาว่า “ไม้ขีดไฟ (Matches)” วอร์คเกอร์ จึงได้ผลิตแล้วนำออกขายในกล่องดีบุกบรรจุ 50 ก้าน (พร้อมด้วยกระดาษทรายเพื่อใช้เสียดสีให้เกิดประกายไฟ) ภายใต้ยี่ห้อ “CONGREVES” แต่คุณภาพก็ไม่ได้ดีพอที่จะติดไฟได้ทุกครั้ง
ซึ่งต่อมาชาร์ล โซเรีย (Charles Sauria) ชาวฝรั่งเศส และเจคอบ ฟรีดริช คามเมอเรอ (Jacob Friedrich Kammerer)ชาวเยอรมัน ได้คิดค้นส่วนผสมใหม่จากกำมะถัน โฟแทสเซียมคลอเรต และฟอสฟอรัสขาว ซึ่งมีความไวไฟสูง จึงติดไฟง่าย แต่ก็ติดง่ายเกินไป เพราะแค่สัมผัสกับเสื้อผ้าก็ติดไฟแล้ว การพกพาไม้ขีดไฟสมัยนั้นจึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง แต่ที่เป็นอันตรายมากๆ ก็คือคนงานในโรงงานผลิตไม้ขีดไฟที่ต้องล้มตายด้วยโรค Phossy Jaw ซึ่งเป็นอันตรายจากไอระเหยของฟอสฟอรัสขาว ที่ทำให้กระดูกขากรรไกรผุกร่อน ซึ่งอันตรายถึงชีวิต
พ.ศ. 2387 กุสตาฟ อีริค พาสช์ (Gustaf Erik Pasch)นักเคมีชาวสวีดิช เปลี่ยนใช้ส่วนผสมจากฟอสฟอรัสขาวเป็นฟอสฟอรัสแดง ซึ่งไม่เป็นพิษและไม่ไวไฟ จึงทำให้ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไม้ขีดไฟปลอดภัยมากขึ้น
พ.ศ. 2394 โจฮาน ลันสตรอม (Johan Lunstrom)ชาวสวีดิช ใช้ฟอสฟอรัสแดงผสมกาวทาผิวข้างกลักแทนการผสมที่หัวไม้ขีดไฟ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ไฟก็จะติดก็ต่อเมื่อขีด (ให้ฟอสฟอรัสแดงระเหิด โดยมีโพแทสเซียมคลอเรตและแอนติโมนีไตรซัลไฟด์เป็นตัวให้ออกซิเจน) กับกลักข้างกล่องเท่านั้น
พ.ศ. 2398 ไม้ขีดไฟของลันสตอมได้เข้าสู่กระบวนการผลิตด้วยเครื่องจักรและวางจำหน่ายไปทั่วโลกภายใต้ชื่อ “Safty Matches” นับล้านกล่อง
โดยไม้ขีดไฟเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในช่วงรัชกาลที่ 4 ซึ่งในสมัยแรกๆ เป็นสินค้านำเข้าจากสวีเดนและญี่ปุ่น
ภาพแสดงตัวอย่างหน้ากลักไม้ขีดไฟของญี่ปุ่น
แต่ต่อมาในช่วงรัชกาลที่ 7 ประเทศไทยเริ่มมีโรงงานผลิตไม้ขีดไฟเป็นของตัวเอง จึงลดการนำเข้าไม้ขีดไฟลง และค่อยๆ หมดไปในที่สุด ซึ่งไม้ขีดไฟที่ผลิตในไทยจะนิยมใช้เป็นไม้เนื้อสีขาวที่ไม่แข็งและไม่อ่อนจนเกินไป เช่น ไม้มะยมป่า ไม้อ้อยช้าง ไม้มะกอก และไม้ปออกแตก เป็นต้น โดยโรงงานผลิตไม้ขีดไฟในยุดแรกๆ นั้น ได้แก่บริษัท มิ่นแซ จำกัด ผลิตไม้ขีดไฟตรานกแก้ว ตรารถกูบ ,บริษัท ตั้งอาจำกัด ผลิตไม้ขีดไฟตรามิกกี้เม้าท์, บริษัทไทยไฟ ผลิตไม้ขีดไฟตรา 24 มิถุนา ซึ่งเป็นรูปที่นั่งอนันตมหาสมาคม เป็นที่ระลึกในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบบประชาธิปไตย เมื่อปี 2475 บริษัท สยามแมตซ์แฟกเตอร์รี่ หรือบริษัท ผลิตไม้ขีดไฟไทยในปัจจุบัน ผลิตไม้ขีดไฟตราธงธงไตรรงค์ และตราพญานาค ซึ่งมีให้เห็นมาจนทุกวันนี้
แม้ว่าการใช้งานไม้ขีดไฟจะไม่ได้รับความนิยมในปัจจุบันแล้ว  แต่เรื่องราวของไม้ขีดไฟก็ยังเป็นเรื่องเล่าที่ปู่ย่าตายายสมัยยังหนุ่มสาวชอบเล่าให้ฟังเวลาไฟดับ ที่ต้องควานหาไม้ขีดไฟเพื่อมาจุดไฟตะเกียงหรือเทียนเวลาไฟดับ ...แล้วที่บ้านของคุณล่ะ มีไม้ขีดไฟไว้จุดเทียนเวลาไฟดับ (แบบคลาสสิค) แบบคุณตาคุณยายหรือเปล่า? 
                                                                                                                                                                    BY SUNNY
ที่มาข้อมูล
ย้อนรอยไม้ขีดไฟ., (2558, มกราคม-มีนาคม). สื่อพลัง. 23 (1): 4-5.
www.wikiwand.com/en/Match
www.nstda.or.th/vdo-nstda/sci-day-techno/5245-potassiumchlorate

ที่มาภาพ
io9.com/a-grisly-but-fascinating-tale-of-the-greatest-medical-r-1631123214
www.lib.ru.ac.th/journal/match.html
packagingcity.wordpress.com/tag/matchbox/
www.finearts.go.th/promotion/parameters/km/item/ภาพเก่า-เล่าอดีต-ไม้ขีดไฟและหน้ากลักไม้ขีดไฟ.html
http://teen.mthai.com/wp-content/uploads/2014/10/151.jpg
อ้างอิงข้อมูลจาก http://www.vcharkarn.com/varticle/502326

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น